กยท.พบปะเกษตรกรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสชูแนวทางปฏิรูปยางพาราไทย บูรณาการแก้ปัญหาราคายาง

การยางแห่งประเทศไทยหรือกยท.พบปะพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย โดยมีนายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง16จังหวัดภาคใต้ ชูแนวทางปฏิรูปยางพาราไทยทั้งระบบหวังเดินหน้าบูรณาการกับรัฐแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายาง สู่ความยั่งยืน

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท.มีความยินดีอย่างยิ่งที่เกษตรกรชาวสวนยางเห็นความสำคัญและพร้อมนำนโยบายภาครัฐสู่การปฏิบัติจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหันมาพึ่งพาตนเองอยู่แบบพอเพียงโดยเปลี่ยนจากการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืนด้วยการปลูกยางแบบผสมผสาน

อย่างไรก็ตามกยท.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการโค่นยางที่เสื่อมสภาพเพื่อหันมาปลูกแทนผสมผสานมีทุนสนับสนุนให้ไร่ละ16,000 บาท โดยในปี 2560 มีชาวสวนยางโค่นยางแล้วปลูกแทน จำนวน 42,036 ราย พื้นที่ 422,728.50 ไร่ ในจำนวนนี้ ปรับหันมาปลูกแบบผสมผสานมากขึ้นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูก(จำนวน 3,043 ราย พื้นที่ 32,315.30 ไร่)

ทั้งนี้มีทุนสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริม เช่น ปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว พืชร่วมยาง เป็นต้น ระหว่างรอผลผลิต จนถึงมีผลผลิตแล้ว รายละไม่เกิน 50,000 บาท ปัจจุบัน กยท. ได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวสวนยางสามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านนี้ เพราะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียง 430 ราย รวมเป็นเงิน 17,133,000 บาท โดยข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การตลาด เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ จะเร่งหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วน

ขณะเดียวกัน กยท.จับมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพาราและส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวลของกฟผ.เพิ่มทางเลือกพลังงานและสร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เปิดเผยถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กยท.ตระหนักและให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราอย่างครบวงจรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

ฉะนั้นการร่วมมือระหว่างกยท.และ กฟผ. ในการจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพาราในสวนปลูกแทนและในพื้นที่ของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับกยท.เพื่อนำวัตถุดิบเหล่านี้ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลของกฟผ. ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้นจากการขายไม้ยางพารา รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกไม้โตเร็ว 5 ชนิด ได้แก่ กระถินเทพณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สนประดิพัทธ์ และยูคาลิปตัส ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะการปลูกไม้โตเร็ว สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงก้อนพลังงานอัดเม็ดหรือ Wood Pellet ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดผู้รับซื้อเป็นจำนวนมาก