การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางนำวัตถุดิบมาต่อยอดการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการเปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางภายในประเทศ เป็นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง นำวัตถุดิบยางพารามาพัฒนาต่อยอดการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ตามแผนยุทธศาสตร์ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ทำสวนยาง ให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
ปัจจุบันแนวโน้มตลาดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยเด็ก และกลุ่มผู้รักและใส่ใจสุขภาพ ที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์แปรรูปยาง ได้แก่ หมอนยางพารา เบาะรองนั่งหรือที่นอนเพื่อสุขภาพ แผ่นปูพื้นยางรองรับแรงกระแทก เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่พร้อมจะส่งเสริม สนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางใช้ในประเทศ เพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กยท.มุ่งให้ความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูปวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบตลาด การประกอบธุรกิจ ควบคู่กับส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางเพื่อการใช้ภายในประเทศ และส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การผลิต การค้า และการลงทุนด้านนวัตกรรม อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ดีต่อสังคม
ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กล่าวว่า การประชุมสัมมนาวิชาการโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางภายในประเทศ ภายใต้แนวคิดส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางแนวคิดใหม่ สร้างการใช้สินค้ายางสู่สังคมจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่ายาง และการนำยางพาราไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยรัฐมีนโยบายผลักดันการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และประชาชนทั่วไป ในการพัฒนาให้เกิดการใช้ยางพาราตามยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราทั้งระบบอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมในโครงการประกอบด้วย การสัมมนาวิชาการด้านยางพารา โดยมีการบรรยายในเรื่องแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนการใช้ยางพารา การนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยางพารา โดยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
ขณะเกียวกันยังมีการประกวดผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยาง การยางแห่งประเทศไทยระดับประเทศ ประจำปี 62 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพาราและเปิดโอกาสให้ นิสิต นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการยางพาราแสดงออกทาง ความคิดสร้างสรรค์สู่การสร้างนวัตกรรม โดยนำผลงานที่ชนะเลิศระดับเขต ทั้ง 7 เขตของ กยท. มานำเสนอผลงานอีกครั้งเพื่อคัดเลือกผู้ชนะในระดับประเทศ
ทั้งนี้ได้แก่ รางวัลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น และรางวัลกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น ประจำปี 2561/2562 โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล คือ รางวัลประเภทสหกรณ์ฯ ได้แก่ สหกรณ์ฯ ดีเด่นระยะเริ่มต้น คือ สหกรณ์กองทุนสวนยางวังยางทอง จำกัด จ. สตูล สหกรณ์ฯ ดีเด่นระยะพัฒนา คือ สหกรณ์กองทุนสวนยางพาราทองผาภูมิ จำกัด จ. กาญจนบุรี
สำหรับรางวัล สหกรณ์ดีเด่นระยะก้าวหน้า คือ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด จ. ตรัง และ สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินชากังราว จำกัด จ. กำแพงเพชร รางวัลประเภทกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรฯ ดีเด่นระยะเริ่มต้น คือ กลุ่มเกษตรกร กยท. ทำสวนยางบ้านสูบ จ. เลย กลุ่มเกษตรกรฯ ดีเด่นระยะพัฒนา คือ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราสามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มเกษตรกรฯ ดีเด่นระยะก้าวหน้า คือ กลุ่มเกษตรกรฐานเกษตรยางพารา จ. บุรีรัมย์ และรางวัลสถาบันเกษตรกรด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีเด่น คือ กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุ จ. ยะลา