กรมชลฯสถาปนาครบรอบ 116 ปี จัดงานแสดงผลงานอย่างยิ่งใหญ่ ก้าวสู่117 ปี น้อมนำศาสตร์พระราชาแก้ปัญหา – พัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ

กรมชลประทานจัดงาน ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน แสดงผลงานและนวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่

นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการ “ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทานครบรอบ 116 ปี

“ในปีนี้นับเป็นปีแห่งความสำเร็จครั้งใหญ่ที่กรมชลประทานได้ดำเนินงานในด้านต่างๆได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการน้อมนำศาสตร์พระราชามาสานต่อในการแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำ การป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง-น้ำท่วม การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมองค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างปี 2557-2560 ที่ผ่านมากรมชลประทานประสบความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักและพื้นที่ชลประทานได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว จากเดิม 30.3 ล้านไร่ เพิ่มอีก 2.4 ล้านไร่ รวมเป็น 32.7 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณการเก็บกับน้ำต้นทุนในระบบชลประทานจาก 79,898 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 81,841 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ยังสามารถจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้ถึง 444,800 ไร่ โดยเฉพาะในการดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานในปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้ถึง 274 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 437.74 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 434,00 ไร่

ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2561 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 427,224 ไร่ เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้ ได้ 154.8 ล้านลูกบาศก์เมตร และวางแผนปรับปรุงบำรุงรักษา ซ่อมแซมอาคารชลประทานทั่วประเทศอีก 6,960 โครงการ

ทั้งนี้ในปี 2561 กรมชลประทานได้วางแผนต่อยอดผลความสำเร็จดังกล่าวโดยขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มอีก 117,000 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 382,000 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่าความสำเร็จในการบริการจัดการน้ำในปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะหรือ SWOC ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ คลังข้อมูลของกรมชลประทาน และเป็นศูนย์กลางติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และคาดการณ์ สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤติได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมชลประทานมีแผนที่จะขยายศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ให้ครอบคลุมครบทั้ง 17 สำนักงานชลประทานในส่วนภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนกรมชลประทานขึ้นสู่ปีที่ 117 คือ จะเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 157 โครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562  โดยปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ เร่งรัดการปรับโครงสร้างหน่วยงาน และปรับปรุงระดับตำแหน่งของบุคลากรให้สูงขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังผู้ปฏิบัติผ่านกิจกรรม KM และ Unit School น้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติผ่านหลักสูตรการอบรม เตรียมการรองรับแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านทรัพยากรน้ำ) ส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร Water for All และส่งเสริมการจัดกิจกรรมสวัสดิการและนันทนาการต่างๆ