นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่ารัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสียมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ กษ. กระทรวงมหาดไทย มท. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ร่วมกันแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้ประชาชนเพื่อให้พร้อมกับสถานการณ์น้ำที่แปรเปลี่ยนในแต่ละฤดูกาล และเร่งรัดจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ขาดแคลนน้ำและทำระบบประปาให้ครบทุกหมู่บ้านตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
สำหรับการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ได้นำโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำโดยความร่วมมือของกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ จำนวน ๒๒ โครงการ ในพื้นที่ ๑๕ จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ประมาณ ๒,๖๐๐ ไร่ มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ๓.๕๗ ล้านลูกบาศก์เมตร มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ๔ แห่ง ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ กว๊านพะเยา และหนองหาร โดยให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากน้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ซึ่งมีศักยภาพนำน้ำมาใช้รองรับการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
กรมฯได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพในการหารือเพื่อเร่งรัดการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำที่ได้ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วประมาณหนึ่งหมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ กนช. ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำชุดข้อมูลสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบผ่านสื่อต่างๆ แบ่งเป็น ๔ หมวดหลัก ได้แก่ การกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ และระบบการระบายน้ำในแต่ละสภาพภูมิประเทศ ,ข้อมูลสถานการณ์น้ำ จำแนกเป็นรายภูมิภาคและความเชื่อมโยงในการใช้น้ำร่วมกัน , การดำเนินการของรัฐบาลทั้งที่เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยจำแนกเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และมาตรการระยะยาวที่มีความยั่งยืน, ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่มีการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ประวัติ
กรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานดูแลจัดทำนโยบาย และแผน ส่งเสริมความร่วมมือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ ระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ และรักษาสมดุลระบบนิเวศของ แหล่งน้ำ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ไม่ต่ำกว่า 32 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นับวันปัญหาวิกฤตน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ปราศจากนโยบายที่ชัดเจน และขาดการ บูรณาการร่วมกัน
ทั้งนี้ผลจากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปลายปี 2545 ที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การจัดตั้ง กรมทรัพยากรน้ำเกิดขึ้นในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจหลักด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจร