“ก้าวหน้าไก่สด” ลง 700 ลบ.ขยายโรงชำแหละไก่บุกยุโรป-ญี่ปุ่น ก้าวหน้าไก่สด ทุ่มงบกว่า 700 ล้านบาท ขยายฟาร์มโรงงานชำแหละและโรงเชือด เพิ่มกำลังผลิตตอบสนองตลาดยุโรปและญี่ปุ่น พร้อมพัฒนาโครงการลูกเล้าส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด ใช้งบลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ทำการก่อสร้างโรงชำแหละและโรงเชือดเสร็จในปี 2562 ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตวันละแสนตัวเพื่อรองรับตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และญี่ปุ่นที่มีความต้องการมากขึ้น
รวมทั้งส่งเสริมการคัดลูกเล้าเพิ่มให้ได้จำนวน 500 ฟาร์มซึ่งการดูแลคัดลูกไก่ช่วงแรกๆ บริษัทฯซื้อมาจากภาคกลาง เลี้ยงขนาดเล็กๆ ไม่ได้เป็นฟาร์มใหญ่ และทางฟาร์มเลี้ยงเองส่วนหนึ่ง ให้ชาวบ้านเลี้ยงส่วนหนึ่ง ส่วนลูกไก่ เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง มีสองพันธุ์ด้วยกันคือ พันธุ์คอบบ์ และอาเบอร์เอเคอร์ เลี้ยงแยกกันสองพันธุ์นี้ พันธุ์คอบบ์ หน้าอกใหญ่ยุโรปต้องการ จึงเลี้ยงตอบสนองความต้องการของตลาด ส่วนอาเบอร์เอเคอร์ น่องใหญ่ยาวเป็นที่นิยมของประเทศญี่ปุ่น

ผู้เข้าร่วมเป็นลูกเล้า ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร มีที่ดิน มีสาธารณูปโภคที่จำเป็นพอสมควร เช่น ถนนเข้าถึง มีไฟฟ้า การสร้างโรงเรือนทางลูกเล้าเป็นผู้ออกทุนเอง แต่ต้องเป็นไปตามแบบที่ทางบริษัทฯเป็นผู้กำหนด ส่วนอุปกรณ์การเลี้ยง เช่น อีแวป พัดลม ที่ให้น้ำ ให้อาหาร ลูกไก่ อาหาร ยาป้องกันรักษาโรค ทางบริษัทฯออกให้ก่อน ส่วนระยะเวลาคืนทุนให้กับบริษัทฯ อาจจะใช้เวลาสักระยะ แต่หากเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ต้องคืนทุนเมื่อมีการจับไก่แต่ละรุ่น โรงเรือนและอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 1.5 ล้านบาท ซึ่งการคืนทุนอยู่ราวปีที่ 5
ปัจจุบันฟาร์มพ่อแม่พันธุ์อยู่ที่อำเภอสำโรง เมื่อเลี้ยงได้ไข่ ก็จะส่งเข้าโรงฟัก จากนั้นจึงส่งให้กับเกษตรกรสัปดาห์ละ 4 แสนตัว จำนวนขนาดนี้ จะมีไก่เข้าโรงชำแหละวันละ 7 หมื่นตัวนอกจากส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแล้ว ทางฟาร์มยังเลี้ยงเอง ซึ่งมีอยู่หลายฟาร์ม จำนวนฟาร์มละ 50,000-200,000 ตัวเกษตรกรที่เป็นลูกเล้าตอนนี้มีกว่า 300 ราย แต่ละรายเลี้ยงไก่ 10,000-15,000 ตัว พื้นที่ของลูกเล้ามีอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และมุกดาหาร
สำหรับท้องถิ่นภาคอีสาน ส่วนใหญ่แล้วอาชีพหลักที่เห็นอยู่คือเรื่องการทำนา งานเลี้ยงไก่เนื้ออาจจะมีน้อยเมื่อบริษัทฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ปรากฏว่ามีการสร้างงานทำเงินเป็นวงจร ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโดยตรงและแรงงานที่ไปทำอยู่กับฟาร์มของบริษัทฯและโรงชำแหละก็ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปไก่ของบริษัทฯทำให้คนขายมีอาชีพเพิ่มขึ้นซึ่งมีคนอยากร่วมงานจำนวนมาก เพราะบริษัทฯมีจุดเด่นด้านความซื่อสัตย์ การเงินไม่ผัดผ่อน จ่ายตรงเวลา ทำให้ลูกเล้าที่มาสมัครเลี้ยงบอกต่อๆ กัน บอกญาติพี่น้องให้มาเข้าร่วม ซึ่งคุณภาพชีวิตของลูกเล้ามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สังคมดี ครอบครัวดี มีทรัพย์สิน มีที่ดินทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ลูกหลานส่วนหนึ่งช่วยพ่อแม่เลี้ยงไก่ ไม่ต้องเข้าหางานทำในเมืองใหญ่
แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร
คาดว่าดัชนีการผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 และ 3.8 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกอย่างความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศของสินค้าสำคัญ อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป แป้งมันสำปะหลัง สิ่งปรุงรส และเครื่องดื่ม อีกทั้งน่าจะได้รับแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ แม้ฐานการผลิตและการส่งออกที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน ประกอบกับปัจจัยลบอย่างภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562
แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนทางการค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญ คือ (1) การส่งออกสินค้าศักยภาพใหม่ที่หลากหลาย ทั้ง สินค้าเกษตร/อาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสำอาง อาหารสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (2) การค้าส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาทดแทนสินค้าจากจีนอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (3) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี โดยจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4 (4) การดำเนินแผนผลักดันการส่งออกโดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ที่เล็งผลในระยะสั้นจะช่วยลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าและสนับสนุนให้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น และ(5) การดำเนินนโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ โดยเฉพาะกลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง และเปิดตลาดใหม่ มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง