ครบรอบ 3 ทศวรรษ ปตท.สผ. กางแผนลงทุนระยะ 5 ปี จัดสรรงบรวม 525,055 ลบ. เน้นกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อประสิทธิภาพในการสำรวจ
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย โดยมีพันธกิจหลักในการสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานทั้งภายในประเทศ และเป็นบริษัทมหาชน 1 ใน10 บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทุนตามตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยแผนการลงทุน 5 ปี ระหว่างปี 2562-2566 ว่าบริษัทได้จัดสรรงบประมาณรวม 525,055 ล้านบาท หรือ 16,105 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไว้ที่ประมาณ 107,453 ล้านบาท หรือ 3,256 ล้านดอลลาร์

งบดังกล่าวแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุนประมาณ 60,721 ล้านบาท หรือ 1,840 ล้านดอลลาร์ และรายจ่ายดำเนินงาน ประมาณ 46,732 ล้านบาท หรือ 1,416 ล้านดอลลาร์ ด้วยเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ 320,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการรักษาปริมาณการผลิตบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 38,247 ล้านบาท หรือ 1,159 ล้านดอลลาร์ ในโครงการผลิตหลักในประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์(เมียนมาร์) คือ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้า และจัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 16,170 ล้านบาท หรือ 490 ล้านดอลลาร์ในการผลักดันการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และเวียดนาม 52/97 และโครงการคอนแทร็ค 4 (แหล่งอุบล) ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองและการผลิตในอนาคต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จะเห็นแผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ในเชิงรุกมากขึ้น โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ บริหารต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะให้ความสำคัญกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจร เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมถึงการค้นหาธุรกิจใหม่อื่น ๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์และพลังงานทางเลือก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน