ประชาอาภรณ์รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน คิดค้นพัฒนาเพื่อความพอใจสูงสุดของผู้บริโภค

บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าบุรุษ สตรี เด็ก และชุดว่ายน้ำ ชุด Uniform ชุดชั้นในชาย ชุดกีฬา และผ้าถัก ภายใต้เครื่องหมายการค้าสากลได้รับลิขสิทธิ์ เป็นที่นิยมกันทั้งในและต่างประเทศ เช่น Arrow, Elle, Arena, Felix Buhler, Mizuno, Lecoq, Streamline และ Bsc

บริษัทมุ่งมั่นในการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ และระบบการผลิตให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล นอกเนื่องจากนี้บริษัทได้คำนึงถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงมุ่งเน้นตั้งแต่ฝ่ายจัดการ เพื่อให้พนักงานทุกระดับมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ล่าสุดบริษัทเข้ารับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2561 10 ปีต่อเนื่องระหว่างปี 2552-2561 ในสถานประกอบกิจการขนาดกลาง ประเภทไม่มีสหภาพแรงงาน

ส่วนมาตรฐานการผลิต บริษัทได้พัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้รับความพอใจสูงสุดและคุ้มค่า จนได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9001:2008 ,การรับรองระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001:2004,ผลิตภัณฑ์แสดงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์,การรับรองผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน

โรงงานแห่งแรกมีฐานการผลิตแห่งแรกที่กรุงเทพฯต่อมาได้ขยายกำลังการผลิตไปยังส่วนภูมิภาค ปัจจุบันบริษัทมีอาคารสำนักงานใหญ่อยู่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการ มีโรงงานอยู่ 2 แห่งคือ1.โรงงานสาขากบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผลิตผ้ายืดผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก 2.โรงงานสาขาลำพูน จังหวัดลำพูน ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ส่งผลให้บริษัทมีส่วนร่วมในการสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่น

ที่ผ่านมาบริษัทเข้าร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์5 “เสื้อเบอร์ 5″ หรือ “เสื้อยับ”ซึ่งเป็นการผลิตเสื้อที่มีการปรับปรุงเนื้อผ้าให้สามารถใส่สบายโดยไม่ต้องรีดเพื่อให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าในการรีดผ้าลง โดยจะมีการทดลองดำเนินการ 1 ปี โดยมีเป้าหมายผลิตเสื้อไม่ต้องรีดประมาณ 1.7 ล้านตัว ออกสู่ตลาด

หากผู้ประกอบดำเนินการคิดค้นผลิต “เสื้อยับ”สำเร็จ และผ่านมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ สมอ. ที่กำหนดไว้ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของกฟผ.จะได้รับรางวัลประหยัดไฟเบอร์ 5 ในปีนี้

โครงการดังกล่าวคล้ายกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับรางวัลและติดฉลากเบอร์ 5 แต่สำหรับเสื้อผ้าจะจัดเป็นประเภท “อุปกรณ์เสื้อยับประหยัดไฟ” แทน โดยสหรัฐอเมริกามีการผลิตเสื้อยับ หรือเสื้อที่ไม่ต้องรีดออกมาจำหน่ายนานแล้ว ซึ่งหากนำมาใช้ในไทยให้เกิดการแพร่หลายจะเป็นจุดที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันประหยัดไฟฟ้าลงได้มากโดยจะมีการเก็บรวมรวมข้อมูลว่าการไม่รีดผ้า 1 ตัวจะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้เท่าไหร่และบันทึกไว้เป็นลำดับต่อไป