สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) เพิ่มกำลังผลิตรับดีมานด์ขนมเปี๊ยะ ขยายตลาดไปต่างประเทศ ตั้งเป้าโกยยอดขาย 400 ล. เคร่งบริหารต้นทุนเพื่อตรึงราคาสินค้า
บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เอพริล เบเกอรี่ เปิดเกมรุกตลาดเพิ่มกำลังการผลิตรับดีมานด์โต ตั้งเป้าเก็บ 400 ลบ. ตั้งทีมเซลส์เสิร์ฟขนมเปี๊ยะส่งร้านกาแฟ พร้อมขยายออกสู่ต่างประเทศ
นางกนกกัญจน์ มธุรพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เอพริล เบเกอรี่ เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายเติบโตเป็นเท่าตัว หรือมีรายได้กว่า 400 ล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 200 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 70 เปอร์เซ็นต์ และหน้าร้านอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมและสร้างรายได้อันดับต้นๆ คือ ขนมเปี๊ยะโมจิลาวาไข่เค็ม, ไดฟูกุไส้นูเทลล่า, พายหมูแดง, เค้กสับปะรด ที่ผ่านมาถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะแบรนด์ยังคงจุดแข็งของวัตถุดิบแป้งและไส้รสชาติอร่อย ราคาเข้าถึงง่ายจนทำให้สินค้าขาดตลาด
ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์ บริษัทจึงลงทุนเพิ่มกำลังผลิตเป็น 2 เท่าตัว มีการเพิ่มเครื่องจักร 5 ตัว และพนักงานกว่า 300 คน ก็จะผลิตได้ 2 แสนชิ้น จากเดิมที่ผลิตได้ราว ๆ 8 หมื่นชิ้น หรือ 70,000-80,000 กล่องต่อวัน เพื่อรองรับตลาดส่งออกและลูกค้าโออีเอ็ม (OEM) และในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายนำสินค้าเตรียมเข้าไปทดลองตลาดเกาหลี ผ่านตัวแทนจำหน่ายที่จะทำหน้าที่กระจายสินค้าทุกช่องทาง สเต็ปถัดไปหากจีนเปิดประเทศก็จะนำสินค้าเข้าไปเปิดตลาดทันที เพราะผู้บริโภคจีนชื่นชอบและให้ความนิยมสินค้าของคนไทยอยู่แล้ว
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีหลัง บริษัทจะพัฒนารสชาติใหม่ ๆ ด้วย ingredients ที่มีคุณภาพ การดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้น่าซื้ออยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการขยายสาขาเอพริล เบเกอรี่ ในรูปแบบแฟรนไชส์ เน้นเปิดในต่างจังหวัด สำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์เอพริล เบเกอรี่ ราคาเริ่มต้น 5 แสนบาท โดยแบรนด์จะช่วยซัพพอร์ตการทำตลาด วิเคราะห์พื้นที่ขาย และสินค้าที่ส่งตรงจากโรงงาน
นอกจากนี้ บริษัทยังกระจายความเสี่ยงและพยายามสร้างรายได้จากหลายช่องทาง ด้วยการขยายช่องทางขายใหม่ๆ โดยตั้งทีมเซลส์ทำขนมเปี๊ยะส่งไปตามร้านกาแฟ ทั้งอเมซอน อินทนิล และร้านกาแฟทั่วไป รวมประมาณ 200 สาขา
ขณะเดียวกัน บริษัทต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนอย่างหนัก หลังภาวะต้นทุนทั้งวัตถุดิบ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง และราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเน้นบริหารจัดการของเสียลดลง ควบคู่กับสต๊อกวัตถุดิบด้วยการซื้อวัตถุดิบลอตใหญ่ เพื่อให้ได้ราคาถูกลง และเพื่อประคับประคองไปก่อน คาดว่าภาวะแบบนี้อาจจะตรึงได้ถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ และเราคงไม่ปรับขึ้นราคา โดยจะใช้วิธีลดขนาดสินค้าลงในปริมาณที่ผู้บริโภคยอมรับได้ โดยเบื้องต้นบริษัทยังไม่ขึ้นราคาสินค้าโดยเด็ดขาด