สู่ 39 ปี กปภ.ผู้ผลิตน้ำประปาที่สะอาดใสได้มาตรฐาน ทุ่ม 1 หมื่นล้านบาทปรับปรุงพัฒนาระบบประปาทั่วประเทศ
การประปาส่วนภูมิภาค หรือ กปภ. หน่วยงานที่ดูแลการผลิตและการบริการให้ผู้ใช้น้ำมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นในคุณภาพน้ำประปาว่าสะอาด ปลอดภัยต่อการอุปโภคบริโภค และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
กปภ.จัดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ปี 2521 ให้มีการปรับรูปแบบการดำเนินกิจการประปาของกองประปาส่วนภูมิภาคกรมโยธาธิการให้เป็นรูปแบบการบริหารแบบ รัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่อมาดำเนินการจัดตั้งและตราเป็นพรบ.การประปาส่วนภุมิภาค พ.ศ.2522 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี2522 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2522 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยโอนกิจการประปา ตลอดจนข้าราชการและลูกจ้างของกองประปาส่วนภูมิภาค กรมโยธาธิการและกองประปาชนบท กรมอนามัย มาเป็นลูกจ้างและพนักงานของ การประปาส่วนภูมิภาค
นายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รองผู้ว่าการ(วิชาการ)รักษาการแทนผู้ว่าการกปภ.เปิดเผยว่า กปภ. มีภารกิจสำคัญในการวางแผนบริหารการให้บริการน้ำประปาไว้ล่วงหน้าตลอดเวลาเพราะปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการองค์กรในภาพรวม ตลอดจนการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โครงสร้างประชากรภายในประเทศ การขยายตัวของโครงการบ้านจัดสรร การย้ายถิ่นของแรงงาน นโยบายรัฐบาล และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมหรือคุณภาพของแหล่งน้ำดิบ ซึ่งกปภ.ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อย่างรอบด้านโดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศในทุกระยะ10 ปีทำให้ กปภ. ได้ริเริ่มโครงการเพื่อการพัฒนาระบบประปาต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด มีโครงการที่แล้วเสร็จ 11 โครงการทั่วประเทศใช้งบประมาณรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาอุตรดิตถ์-ตรอน จ.อุตรดิตถ์ 2. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 3. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาบ้านบึง (หนองไผ่แก้ว) – พนัสนิคม (ท่าบุญมี) จ.ชลบุรี 4. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาคลองใหญ่ จ.ตราด 5.โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาปากน้ำประแสร์ จ.ระยอง 6. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาภูเก็ต จ.ภูเก็ต 7. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี (ระยะที่ 1 ส่วนที่ 2) 8. โครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาหลังรับโอน กปภ.สาขาชัยบาดาล (ลำสนธิ) จ.ลพบุรี 9. โครงการก่อสร้างปรับปรุงการจ่ายน้ำ (ระยะเร่งด่วน) กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี 10. โครงการก่อสร้างปรับปรุงเส้นท่อ แม่น้ำบางปะกง-สระสี่เหลี่ยม จ.ชลบุรี 11. โครงการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำและวางท่อขยายเขต กปภ.สาขามุกดาหาร จ.มุกดาหาร
โครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนาาระบบประปาให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ตลอดจนสามารถขยายพื้นที่การให้บริการไปยังชุมชนที่ยังขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน
อย่างไรก็ตามนอกจากโครงการดังกล่าวแล้วกปภ.ยังมีโครงการเพื่อการพัฒนาระบบประปาอีกกว่า 70 โครงการทั่วประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการโดยกปภ.มั่นใจว่าเมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
สำหรับความคืบหน้าทั้ง 11 โครงการ กปภ.ได้ลงงบประมาณไปสู้พื้นที่และมีบางจังหวัดได้ผู้รับเหมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วตัวอย่างเช่น กปภ.สาขาปากน้ำประแสร์ ที่ได้รับงบประมาณ 153 ล้านบาทเพิ่มกำลังการผลิตที่ใกล้เต็มศักยภาพและแก้ปัญหาน้ำไหลอ่อนในพื้นที่ต่างระดับรวมถึงการรองรับการขยายตัวของชุมชนและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งสามารถรองรับผู้ใช้น้ำรายใหม่ได้ถึง 4,000 ราย ในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เขตพื้นที่รับผิดชอบให้บริการและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ.สาขาปากน้ำประแสร์ ได้แก่ ตำบลปากน้ำประแสร์ ตำบลทุ่งควายกิน ตำบลกองดิน ซึ่งอยู่ในอำเภอแกลง จ.ระยอง และตำบลนายายอาม อยู่ในอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตที่มีการขยายตัวของชุมชนและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทำให้กำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำไหลอ่อนในบางพื้นที่
ทั้งนี้งบประมาณจำนวน 153 ล้านบาท จะแบ่งใช้เป็นการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำเขาระโอก 2 ประกอบด้วยแพสูบน้ำ โรงกรองน้ำขนาด 300 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงถังน้ำใสขนาด2,000 ลูกบาศก์เมตร โรงเก็บจ่ายสารเคมีและสถานีจ่ายน้ำเนรมิต ประกอบด้วย โรงสูบน้ำ ถังน้ำใสขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร หอถังสูงขนาด 250 ลูกบาศก์เมตร และวางระบบท่อส่งจ่ายน้ำในโครงการความยาวกว่า 36 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี การดูแลประชาชนให้สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่ใสสะอาดได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก เป็นภารกิจหลักที่ กปภ. ตระหนักและให้ความสำคัญอยู่เสมอ อีกทั้งการสนับสนุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้ำประปาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนนำรายได้เข้าสู่ประเทศต่อไป