นายปีเตอร์ แม็คเคนซีย์ กรรมการผู้จัดการ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน เปิดเผยว่า บริษัทแม่ต้องการขยายธุรกิจของฮาร์เลย์ฯออกมายังประเทศอื่น ๆ นอกสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างแบรนด์และขยายตลาดในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามายังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีตลาดใหญ่ ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ และไทย เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสการเติบโตของประเทศเหล่านี้
ดังนั้น บริษัทจึงได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์ในประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง และเพิ่งมีการวางศิลาฤกษ์ไปเป็นที่เรียบร้อยโดยโรงงานแห่งนี้เป็นแห่งที่ 5 ของฮาร์เลย์ทั่วโลกที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา 2 แห่ง, บราซิล และอินเดีย สำหรับประเทศไทยยังถือเป็นประเทศที่ 3 ซึ่งบริษัทตัดสินใจออกไปตั้งโรงงานผลิต
“การเข้ามาลงทุนครั้งนี้ แม้ว่ายังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าของการลงทุนได้ แต่เบื้องต้นบริษัทได้รับการอนุมัติการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ พร้อมทั้งได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี”นายแม็คเคนซีย์ กล่าว
โรงงานแห่งนี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 20,000 ตารางเมตร กำลังผลิตส่วนใหญ่จะเป็นการรองรับกับความต้องการของตลาดในประเทศไทย และตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นหลัก และโรงงานแห่งนี้ยังมีความยืดหยุ่นในการผลิตค่อนข้างสูง
สำหรับ ระบบซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง และภายในปีหน้า พ.ศ. 2561 เราจะเริ่มดำเนินการผลิตได้อย่างแน่นอน บริษัทได้วางกลยุทธ์สำคัญของการบุกตลาด ต่างประเทศ ครั้งนี้มีเป้าหมายหลัก 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.การเพิ่มจำนวนรถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์ฯอย่างต่อเนื่อง 2.เพิ่มสัดส่วนตลาดนอกสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดไว้ 50/50 3.ภายในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ ฮาร์เลย์ฯจะส่งรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดจำนวน 100 รุ่น โดยขณะนี้มีออกมาแล้ว 2 รุ่น และในเร็ว ๆ นี้จะมีเพิ่มอีก 1 รุ่น 4.โรงงานแห่งนี้จะมีการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และ 5.ฮาร์เลย์พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น จักรยานยนต์อีวี (ไฟฟ้า) ออกสู่ตลาดส่วนประเทศไทยนั้นหลังจากบริษัทตัดสินใจเข้ามาดำเนินธุรกิจเองอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2558
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ฮาร์เลย์-เดวิดสันได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยตั้งศูนย์การผลิตและประกอบจักรยานยนต์ เนื่องจากที่ตั้งของประเทศไทยซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคอาเซียน และยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินการ เช่น การสนับสนุนต่าง ๆ ที่ช่วยให้นักลงทุนดำเนินธุรกิจได้ง่าย และมีอัตราภาษีที่จูงใจให้ลงทุนและประกอบธุรกิจ
“การเข้ามาของฮาร์เลย์ฯครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำว่านักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุน”
โดยโครงการนี้จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศปีละประมาณ 3,708 ล้านบาท อาทิ ชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ชิ้นส่วนเหล็กทุบชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง เป็นต้น รวมถึงมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งบุคลากรไปเรียนรู้เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่บริษัทแม่ประเทศอังกฤษ