เอกพัฒนากิจจ่อเปิดเซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า 2 มูลค่ากว่าพันล้าน แลนด์มาร์คแห่งใหม่ย่านสุขุมวิท

บริษัท เอกมหากิจ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์การค้าและโรงภาพยนต์ “เซ็นจูรี่ เดอะมูฟสี่พลาซ่า” บริษัทแม่ของ บริษัท เอกพัฒนกิจ จำกัด ผู้ประกอบกิจการประเภทโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด

นายกำพล พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกมหากิจ จำกัด ผู้บริหารเซ็นจูรี่เดอะมูฟวี่พลาซ่า เปิดเผยว่า จากที่บริษัทได้ลงทุนในโครงการเซ็นจูรี่เดอะมูฟวี่พลาซ่าสาขาที่ 2 ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท

โครงการเซ็นจูรี่เดอะมูฟวี่พลาซ่าสาขา 2  เป็นอาคารสูง 31 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน 1 ชั้น บนพื้นที่กว่า 66,000 ตร.ม. ตั้งอยู่ปากซอยสุขุมวิท 81 ประกอบด้วย ห้องพัก 306ห้อง โรงภาพยนตร์ 9 โรง พื้นที่พาณิชย์ 4934.93 ตร.ม. ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม มีห้างค้าปลีกอย่างเช่น Big C Extra และ Tesco Lotus

การออกแบบเป็นลักษณะอาคารเตี้ยด้านหน้า ตึกสูงด้านหลัง ด้านหน้าตัวห้างชั้นใต้ดินถึงชั้น 3 ส่วนนชั้น 4 เป็นโรงหนัง ล็อบบี้โรงแรมอยู่ชั้น2 ด้านหลังจอดรถถึงชั้น4 จากชั้น5เป็นต้นไปเป็นส่วนของโรงแรม

ทั้งนี้ ทางโครงการจัดแบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่ Entertainment Zone, Education Zone, Superstore Zone, Shopping Zone และ Food Zone พร้อมที่จอดรถกว่า 550 คัน สามารถตอบรับความต้องการของคนทุกเพศทุกวัย

สำหรับส่วนของโรงภาพยนตร์มีทั้งหมด 8 โรง สามารถจุได้ประมาณ 2,000 ที่นั่ง เข้าถึงทุกจินตนาการและอรรถรสแห่งการชมภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและคุณยังสามารถเพิ่มความสมบูรณ์แบบแห่งความผ่อนคลายกับคาราโอเกะและโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่ให้ความรู้สึกของโลกส่วนตัวที่แท้จริง เปิดโลกทัศน์แห่งการศึกษาภาคพิเศษด้วยการรวบรวมสถาบันกวดวิชาและศูนย์แนะแนวชั้นนำไว้ด้วยกัน อาทิ ติวเตอร์อาจารย์ปิง ดาว้อง จีเอสซี อาจารย์กิ่งแก้ว โรงเรียนสอนศิลปะ ดนตรี และอื่นๆอีกมาก ร้านค้า แหล่งรวมสินค้าแฟชั่นต่างๆมากมายภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเองและเต็มไปด้วยความทันสมัย

แหล่งข่าวเปิดเผย ถึงความคืบหน้าโครงการว่า ขณะนี้ตัวโครงการแล้วเสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และได้กำหนดพรีโอเพ่นนิ่งในวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2560 และซอฟโอเพ่นนิ่งวันที่ 18-19 ธันวาคมนี้ สำหรับแกรนด์โอเพ่นนิ่งบริษัทได้กำหนดจัดขึ้นประมาณวันที่ 19 มกราคม ปี 2561  โดยจะทะยอยเปิดส่วนของร้านค้า โรงภาพยนต์ ก่อน แต่ส่วนของโรงแรมในขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยเหลือเพียงการตกแต่งภายในเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีหน้า

กำเนิดเซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า

กรรมการผู้จัดการบริษัทเอกมหากิจจำกัด เล่าว่าตอนที่ยังเป็นเด็กจำได้ว่าเห็นภาพคุณพ่อทำธุรกิจโรงหนังซึ่งแต่เดิมนั้นบูมมากแต่มาสมัยหนึ่งพอถึงจุดๆ นึงก็เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโรงหนังแบบเดิมๆ ก็ค่อยๆ เงียบไป ต้องปิดตัวเองลงทีละโรงคือช่วงนั้นจะมีวีดีโอเข้ามาตีตลาด แล้วโรงหนังก็ค่อยๆ หายไป แล้วหลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 ปี ก็ค่อยๆ มีผุดขึ้นมา ซึ่งก็คือ EGV เป็นระบบมัลติเพล็กซ์ คือเป็นโรงหนังที่มารวมๆ กันมากกว่า 1 โรง โดยมีระบบแสง สี เสียง ภาพ และความสะดวกสบายทั้งหมดครบวงจร หลังจากนั้นอีกไม่นานก็มีเมเจอร์ตามมาอีกเจ้าหนึ่ง ความที่คุณพ่อของผมยังรักในธุรกิจโรงหนังอยู่ คือเขาจะคิดเสมอว่าที่มีทุกวันนี้ได้เพราะธุรกิจโรงหนังจริงๆ ทำให้ต้องการอยากจะกลับมาทำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ที่ดินแปลงนี้มา ก็เริ่มตัดสินใจลงมือก่อสร้าง เซ็นจูรี่ เดอะ มูฟวี่ พลาซ่า’ ขึ้น เมื่อประมาณปี 2545 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี และเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปี 2548

“เรารู้ดีว่าถึงแม้ตลาดโรงหนังในตอนนี้จะมีเจ้าของตลาดเดิมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมคิดไว้ก็คือ เราจะต้องเพิ่มอะไรลงไปในตลาดของโรงหนังให้มากขึ้นไปอีก และความที่เราได้พื้นที่อยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯก็เลยจะทำให้มันเป็นมากกว่าโรงหนังการที่ลูกค้าจะเดินเข้ามาดูหนังที่เซ็นจูรี่นั้น นอกจากจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั่นก็คือกลุ่มวัยรุ่นแล้วที่เซ็นจูรี่แห่งนี้ยังมีฟู้ดคอร์ท ธนาคาร รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชาที่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้หลายกลุ่มเพิ่มมากขึ้น คือเราพยายามให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายในหลายๆ เรื่องในที่ๆ เดียวครับ หลายคนอาจจะเรียกที่นี่ว่าเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมๆก็ได้ อย่างทุกวันนี้ก็มีลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนทำงานเข้ามาเยอะอาจจะไม่เข้ามาดูหนังก็ได้แต่จะเข้ามากินมาจับจ่ายใช้สอยอย่างอื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม ถือว่าโชคดีมากที่ได้พื้นที่ในย่านอนุสาวรีย์ชัยซึ่งเป็นใจกลางเมืองเรียกได้ว่าตรงนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทางไปยังหลายๆแห่งทั่วทุกเกือบภูมิภาค การคมนาคมก็มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งรถประจำทาง รถตู้ และรถไฟฟ้า ทำให้มีคนจำนวนมากที่มาอยู่ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

อนาคตคิดว่าธุรกิจโรงหนังในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงนะครับ เพราะเท่าที่ดูๆ แล้วโรงหนังนั้นแทบจะมีอยู่ในทุกพื้นที่เลยด้วยซ้ำที่หนึ่งก็มี 8 – 12 โรง ซึ่งตรงนั้นมันก็ทำให้เราทำงานยากเหมือนกัน แต่อีกมุมหนึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติมากกว่า เพราะธุรกิจมันต้องมีการแข่งขันอยู่แล้วล่ะ ถ้าไม่มีการแข่งขันเลย มันก็คงเป็นธุรกิจที่ไม่มีความน่าสนใจมั้งครับ ถ้าจะถามว่าเราสู้กับ EGV หรือว่าเมเจอร์ได้แล้วหรือยัง ก็คิดว่าอย่าเรียกว่าสู้เลยครับ ผมมองว่าต่างคนต่างอยู่นะครับ เพราะจริงๆ แล้วก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกันทั้งนั้น ซึ่งพวกเราเองก็มีการปรึกษาเรื่องงานกันตลอด ซึ่งอย่างผมเองก็ไม่สามารถไปดึงลูกค้าจากรัชโยธินหรือว่ารังสิตมาได้ ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะไปสู้โดยการแย่งลูกค้ากัน แต่คิดว่าเป็นการแชร์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่กันมากกว่า