ขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิต รุกตลาดอาเซียน วางเป้ายอดขายปี 66 ทะลุ 45%
แอตลาส เอ็นเนอยีฯ โชว์รางวัล “ สุดยอดนวัตกรรมสินค้าและบริการแห่งปี 2566“ พร้อมเดินแผนขยายโรงอัดบรรจุก๊าซ-คลังก๊าซ บุกตลาดอาเซียน เดินหน้าส่ง 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ “ถังแก๊สอะลูมิเนียม-แก๊สกระป๋อง” และแฟรนไชส์ตู้เติมแก๊ส เจาะตลาดรายหมู่บ้าน และโชห่วย 4 แสนร้านค้า มั่นปี 2566 ยอดขายโต 45 เปอร์เซ็นต์
นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก๊าซหุงต้มพีที เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมสินค้าและบริการแห่งปี 2566” ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภค ประเภทบริการเกี่ยวกับบ้าน ได้แก่ ถังแก๊ส PT ALUMAX ก๊าซหุงต้มในถังอะลูมิเนียม จากเวที BUSINESS+ PRODUCT INNOVATION AWARDS 2023
“รางวัลดังกล่าว เป็นความภาคภูมิใจและถือเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมที่จะช่วยให้เรามุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ๆ ออกมา โดยถังแก๊ส PT ALUMAX ถือเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อความสุขในครัวเรือนของคนไทย เพราะมีเทคโนโลยีที่มาพร้อมความปลอดภัยด้วยถังบรรจุ ก๊าซหุงต้ม ที่ทำจากวัสดุพิเศษ มีขนาด 12.5 กิโลกรัม” นายสุวัชชัย กล่าว
สำหรับคุณสมบัติพิเศษของ PT ALUMAX จะเน้นเรื่องความปลอดภัย พร้อมวาล์วเช็กล็อก มุ่งตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ก๊าซหุงต้ม เน้นสร้างประสบการณ์ ให้การใช้งานก๊าซหุงต้มเป็นเรื่องง่าย ซึ่ง PT ALUMAX ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้านวัตกรรม ที่ผลิตขึ้นรูปด้วยวัสดุอะลูมิเนียมชิ้นเดียว ทำให้ได้ถังที่ไร้รอยต่อ ไม่มีรอยตะเข็บแบบถังเหล็กทั่วไป และเป็นถังที่มีน้ำหนักเบา สะดวกสบายต่อการใช้งาน ได้มาตรฐาน มอก. ซึ่งถังอะลูมิเนียมนี้เป็นวัสดุที่ไม่ทำให้เกิดสนิม จึงไม่ทำให้เกิดคราบสนิมติดพื้นเฟอร์นิเจอร์ครัวหรือพื้นบ้าน มาพร้อมกับขาถังพลาสติกปกป้องพื้นครัว อีกทั้งยังมีดีไซน์สวยงาม ขัดลายโดดเด่น การันตีด้วยรางวัล Good Design Awards และ Reddot Award Winner เหมาะกับทุกบ้าน ทุกไลฟ์สไตล์ จึงเชื่อว่าจะสามารถเข้าไปครองใจผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างแน่นอน โดยเริ่มวางจำหน่ายแล้ว ณ ร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มพีที กว่า 100 สาขาในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
นายสุวัชชัย กล่าวถึงแผนการตลาดต่อว่า ผลประกอบการใน 3 ไตรมาส/2565 ที่ผ่านมายอดขายก๊าซรถยนต์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 18 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25.2 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ 1 ในตลาดก๊าซรถยนต์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน มีส่วนแบ่ง 4 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าปี 2566 จะโตเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมาเติบโต 2 เปอร์เซ็นต์โดยในปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายก๊าซ 45 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 3.5 แสนตัน จากปี 2565 ที่ทำได้กว่า 2.5 แสนตัน
เนื่องจากแนวโน้มตลาดก๊าซในปี 2566 ทั้งภาครถยนต์และครัวเรือนมีโอกาสเติบโต 100 เปอร์เซ็นต์หลังโควิดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศ การจับจ่ายและการเดินทางก็จะมากขึ้นตามไปด้วยซึ่งปัจจุบันพีทีมีสถานีบริการ 2,200 สาขา และจะขยายแก๊สช็อป (GAS Shop) จาก 200 แห่งในปี 2565 เป็น 400 สาขาภายในปี 2566 รวมถึงสถานีบริการ LPG ในเขตไพรมแอเรียตามหัวเมืองใหญ่อีก 20-25 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น ส่วนโรงผลิตหรือโรงบรรจุแก๊ส มีทั้งแบบผลิตเอง (company own company operate : COCO) ซึ่งปี2566 จะขยายเพิ่ม 4 โรง จากที่มีอยู่ 5 โรง และโรงบรรจุดีลเลอร์ (dealer own dealer operate : DODO) ขยายอีก 20 จากปัจจุบันมี 12 แห่ง เพิ่มกว่าเท่าตัว
ส่วนการขยายโรงบรรจุจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 25-30 ล้านบาท/แห่ง ซึ่งบริษัทฯใช้วิธีกู้ยืมจากบริษัทแม่บางส่วน รวมกับเงินจากกำไรในการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดบริษัทฯเตรียมยื่นไฟลิ่งเพื่อนำบริษัทฯเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย
“เราจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจ โดยเฉพาะโรงบรรจุและคลังก๊าซ โลจิสติกส์ และมีแผนขยายตลาดก๊าซในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มเพื่อทดแทนการใช้ถ่าน ซึ่งนับว่าจะมีราคาสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันในประเทศเพื่อนบ้านยังน้อย ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสของเรา”นายสุวัชชัย กล่าว
สำหรับตลาดภาคอุตสาหกรรม แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่ได้เร็วเท่ากับภาครถยนต์ เพราะการเข้าไปเจาะตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมยังติดคอนแทร็กต์กับกลุ่มผู้ค้าเดิม จึงต้องใช้เวลา แต่คาดว่าปี 2566 จะเติบโต 100 เปอร์เซ็นต์ จากความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นจากการผลิตเพื่อส่งออกที่เติบโต
นายสุวัชชัยกล่าวตอนท้ายว่า บริษัทฯได้ทำการเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ 1. PT ALUMAX เป็นก๊าซหุงต้มบรรจุในถังอะลูมิเนียม (สีเงิน) ขนาด 12.5 กก. มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย ไร้รอยเชื่อมต่อ และน้ำหนักเบา ทั้งยังเป็นถังที่ให้พลังงานความร้อนสูงเร็วกว่าเหล็ก จึงทำให้อาหารสุกเร็วและประหยัด 2.ผลิตภัณฑ์แก๊สกระป๋อง เจาะลูกค้ากลุ่มปิกนิก, ชาบู และ 3.ตู้เติมแก๊สอัตโนมัติโดยร่วมกับบริษัท ไมโครเทรดดิ้ง จำกัด พัฒนาเครื่องจำหน่ายแก๊สชนิดเติมอัตโนมัติ ซึ่งได้วางจำหน่ายในรูปแบบแฟรนไชส์ซึ่งในเดือนธันวาคม ปี 2565 ที่ผ่านมาคาดว่าปีแรกจะขยายได้ 50 จุด มีพื้นที่เป้าหมายเป็นบริเวณกลุ่มอาคารที่พักอาศัย ชุมชน แฟลต มินิมาร์ต และร้านโชห่วยกว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศ หลังทำวิจัยมาแล้วพบว่ามีลูกค้าในหมู่บ้านและตำบลที่ห่างไกลร้านแก๊ส ต้องหิ้วถังมาเติมเองถึง 40 เปอร์เซ็นต์
“ระบบความปลอดภัยสำคัญที่สุด เรามีการตรวจสอบถังทุก 5 ปี และเป็น 1 ใน 2 รายของประเทศ ที่ติดตั้งระบบ 2 วาล์วที่ถัง เพื่อป้องกันการรั่วซึม ต้นทุนสูงหน่อย แต่ต้องการรอยัลตี้ และมีคิวอาร์โค้ดที่หัววาล์วสำหรับตรวจสอบย้อนกลับว่ามีการบำรุงรักษาเมื่อไร บรรจุครั้งสุดท้ายเท่าไร และส่งไปที่ไหน โดยเชื่อมโยงไปยังแอปพลิเคชั่น เช่นกันกับแก๊สกระป๋องของเราก็มีระบบป้องกันการระเบิด” นายสุวัชชัย กล่าว