โตโยต้า ทูโช คว้ารางวัลเพชรพาณิชย์ ปี61 เตรียมรุกตลาดอุปโภค – บริโภคเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด
บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม ปี 2500 ใช้ชื่อว่า Toyoda (Thailand) เริ่มจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรอุตสาหกรรม และยางรถยนต์จากญี่ปุ่น ปัจจุบันดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 61 มีบริษัทในเครือมากกว่า 79 บริษัท มีพนักงานมากกว่า 8 พันคน
โตโยต้า ทูโช ไทยแลนด์เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์เปอเรชั่น จากญี่ปุ่น และนักธุรกิจชาวไทย ปัจจุบันดำเนินธุรกิจทั้ง Automotive 80 เปอร์เซ็นต์ เช่น วัตถุดิบและชิ้นส่วนรถยนต์ และธุรกิจ Non-Automotive 20เปอร์เซ็นต์ เช่น รับผลิตชุดยูนิฟอร์มพนักงาน, โบรกเกอร์ประกันภัย-ประกันชีวิต, สินค้าแม่และเด็ก, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, เหล็กแท่ง
ล่าสุดบริษัท เข้ารับรางวัล เพชรพาณิชย์ สาขาผู้ประกอบการ ด้านผู้ประกอบการที่สนับสนุนงานด้านประชารัฐ โดยมีนายคิโยโยชิ โอบะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัดเข้ารับราวัล จากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์
รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นเพื่อให้เป็นแบบอย่างของบุคคลที่แสดงความมุ่งมั่น ทุ่มเท และ อุทิศตนเพื่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ การค้า การพาณิชย์ สังคมส่วนรวม ทั้งในระดับองค์กร และระดับประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาผู้ประกอบการ สาขาผู้ทรงคุณวุฒิ และสาขาข้าราชการและพนักงาน โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลจํานวนทั้งสิ้น 28 ราย จากภาคเอกชนและภาครัฐ แยกเป็นสาขาผู้ประกอบการ 17 ราย ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ราย ข้าราชการและพนักงาน 6 ราย
นางสาวอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้บริหารรุ่นที่ 3 แห่ง โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)กล่าวว่า บริษัทเตรียมขยายธุรกิจเพิ่มเติม ในด้านการจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช้สินค้าอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งวางแผนนำสินค้ากลุ่มที่นอนสุขภาพ กลุ่มแม่และเด็ก และกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน รววมถึงผลิตภัณฑ์ชิเซโด้ เข้ามาจำหน่ายในต้นปีหน้า โดยจะเป็นการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และห้างสรรถสินค้าชั้นนำทั่วไปมุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกคนในครอบครัว ด้วยผลิตภัณฑ์ที่แบ่งเป็นเซ็กเมนต์ต่างๆ เช่น กลุ่มสินค้าแม่และเด็ก โดยคาดว่าจะสามารถนำสินค้าเหล่านี้เข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้ประมาณไตรมาส 1 ของปี 2561
ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ในสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ชุดยูนิฟอร์ม เม็ดพลาสติก อาหารทะเลแช่แข็งในสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบีทูบี โดยนโยบายของบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการให้เพิ่มสัดส่วนสินค้าทั้ง 2 กลุ่มให้มีสัดส่วนเท่ากัน แต่เบื้องต้นภายในระยะ 3 ปีหรือภายในปี 2563 ต้องการเพิ่มสัดส่วนเป็น 25-30 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในปี 2563 คาดว่าประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 1 ใน 5 ที่ผลิตและส่งออกอาหาร รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากร ธรรมชาติที่สมบูรณ์ ฤดูกาลเพาะปลูกที่มีตลอดทั้งปี ค่าแรงต้นทุนต่ำแรงงาน มีทักษะฝีมือความชำนาญสูง มีความรู้ความสามารถ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเวทีตลาดแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
อย่างไรก็ตาม บริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท Novaagri Infra-Estrutura De Armazenagem e Escoamento Agricola S.A. เพื่อการบริหารการจัดการคลังสินค้า การขนส่งทางรถไฟ และเป็นฐานการส่งออกไปยังตอนกลางและตอนเหนือของบราซิล การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้กลุ่มบริษัท TTC ขยายธุรกิจจากการจัดเก็บธัญพืชขั้นพื้นฐานไปสู่การบริหารการจัดการเพื่อการส่งออก โดยสินค้าโภคภัณฑ์และธัญพืชได้แก่ ข้าว น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง ข้าวสาลี แป้งสาลี ถั่ว ฯลฯ อาหารได้แก่ ซูริมิ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากซูริมิ อาหารกระป๋อง น้ำปลา ไวน์ อาหารแช่แข็ง อาหารอบแห้ง อาหารทะเล ข้าวอบกรอบ และขิงดอง โดยผ่านเครือข่ายของบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลก
ยุทธศาสตร์ธุรกิจในไทย สอดคล้องกับบริษัทแม่จากญี่ปุ่น ที่มุ่งขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจ Non-Automotive มากขึ้น โดยที่ผ่านมาเน้นอุตสาหกรรมหนัก แต่นับจากนี้จะรุกเข้าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยการเป็น Trading แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ในชีวิตประจำวันจากญี่ปุ่น กระจายเข้าสู่ช่องทางห้างสรรพสินค้า รวมถึงอนาคตมีแผนจะเปิดช่องทางขายออนไลน์เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ว่า คนไทยชื่นชอบแบรนด์และสินค้าจากญี่ปุ่น