นายสินธุ์ชัย แก้วกิติชัย นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันในไทยมีมูลค่าประมาณ 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.77 แสนล้านบาท มีโอกาสขยายตัวอีกมาก เนื่องจากตลาดยาในประเทศยังมีมูลค่าที่เล็กและยังโตได้อีกขณะเดียวกันโอกาสสำคัญของผู้ผลิตยาในไทยคือตลาดส่งออกโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในคุณภาพและศักยภาพด้านการผลิตยาของไทยเป็นอย่างดี
ขระเดียวกันสมาคมได้ลงนามร่วมกับยูบีเอ็มและทีเส็บจัดงานCPhI South East Asia 2019 ขึ้นมาซึ่งงานดังกล่าวจะรวมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาจากหลายๆประเทศเข้าด้วยกัน เช่น ด้านส่วนผสมวัตถุดิบยา แพ็กเกจจิ้ง นวัตกรรมการผลิตยาใหม่ๆเป็นต้น
ปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดยาแบ่ง 2 ส่วน คือ หน่วยงานรัฐที่มีองค์การเภสัชกรรมเป็นหัวหอกหลักในการรุกตลาด และผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีทั้งผู้ผลิตในไทยและบริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติ โดยมีโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐานประมาณ 150 บริษัททั่วประเทศ และมีร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรประจำร้านทั่วประเทศประมาณ 12,000 ร้าน
“อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตยาสำเร็จรูปโดยผู้ผลิตจะนำเข้าวัตถุดิบจากอินเดียและจีนเข้ามาผสม และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการรักษา แตกต่างจากอินเดียและจีนที่มีการผลิตยาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งรูปแบบการผลิตยาของไทยถือเป็นข้อเสียของอุตฯนี้ เพราะถ้ามีปัญหาด้านวัตถุดิบโรงงานในไทยก็จะไม่สามารถผลิตยาได้ นั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาสในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องเข้ามาสนับสนุนในอุตฯนี้ด้วย”
ด้านนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้า นวัตกรรมต่างๆ กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มมูลค่าขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่มีมูลค่าตลาดยาโดยรวมค่อนข้างสูงหรือคิดเป็นเบอร์ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
งาน CPhI ถูกจัดขึ้นเป็นประจำในประเทศที่ได้รับการยอมรับด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างกลุ่มประเทศยุโรป จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ที่มีชื่อเสียงด้านงานวิจัยยาและการผลิตยาอยู่แล้ว แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้มีเข้ามาจัดงานนี้ที่อินโดนีเซีย เพราะตลาดยาอินโดนีเซียมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางการตลาดและมีศักยภาพสูง จากกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 560 ล้านคน
“ต่อไปงาน CPhI South East Asia จะถูกจัดสลับกันระหว่างอินโดนีเซียและไทย เพราะเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ทั้งคู่ โดยอินโดนีเซียจะเน้นเป็นการยกระดับคุณภาพยาและการอัพเดตองค์ความรู้เพื่อผลิตสำหรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนไทยจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา การใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกยาทั้งหมด”