30 ปี TRT มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่สิ่งแวดล้อมรับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว เผยเดินหน้าประมูลงานรัฐ-เอกชนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ Backlog พุ่ง 2,250 ลบ.
บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ประกอบธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ขายวัสดุอุปกรณ์หม้อแปลงไฟฟ้า ซ่อมบำรุงรักษา และบริการติดตั้งหม้อแปลไฟฟ้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ปี 2530 และได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2548
ปัจจุบันดำเนินธุรกิจครบรอบ 30 ปี ยังคงเป็นบริษัทผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศรายเดียวที่ผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย โดยบริษัทถือหุ้นในบริษัทย่อย 3 บริษัท เพื่อผลิตวัตถุดิบแปรรูปส่งให้บริษัท
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีรายได้ตามสัญญาก่อสร้างจากบริษัทในเครืออยู่ประมาณ 101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ขณะนี้มี Backlog รวมแล้วประมาณ 2,250 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่ม Non-Transformer 52 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่ม Transformer 48 เปอร์เซ็นต์ และมีงานรอประมูลอีกกว่า 10,280 ล้านบาท
“สำหรับ Backlog ที่มีกว่า 2,250 ล้านบาท มีสัดส่วนที่เป็นกลุ่ม Transformer 48 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 1,077 ล้านบาท และกลุ่ม Non-Transformer 52 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ากว่า 1,173 ล้านบาท โดยกลุ่ม Transformer จะมีการส่งมอบในปี 2017 ประมาณ 886 ล้านบาท,ปี 2018 ประมาณ 162 ล้านบาท และปี 2019 ประมาณ 29 ล้านบาท และในส่วนของกลุ่ม Non-Transformer จะมีการส่งมอบในปี 2017 ประมาณ 573 ล้านบาท,ปี 2018 ประมาณ 300 ล้านบาท และปี 2019 ประมาณ 300 ล้านบาท”
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทยังคงเดินหน้าประมูลงานอย่างต่อเนื่องในมูลค่างานประมาณ 10,280 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวงประมาณ 1,500 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,700 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตประมาณ 1,500 ล้านบาท และตลาดเอกชนในประเทศอีกกว่า 1,900 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศอีก 1,050 ล้านบาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมีงานบริการซ่อมบำรุงหม้อแปลงอีก 50 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทลูกรถเคลนกว่า 1,460 ล้านบาท และกลุ่ม Steel Structure & Fabricate อีกกว่า 1,120 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าที่จะได้รับคำสั่งซื้อข้างต้นประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์
ล่าสุดในปีนี้บริษัทได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว จากกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมีนางสุนันท์ สันติโชตินันท์ กรรมการบริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน)เข้ารับรางวัลจาก นางอนงค์ ไพจิตรประภาพร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับเกณฑ์กำหนดอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 : วัฒนธรรมสีเขียว จะต้องผ่านเกณฑ์การตัดสินดังนี้ 1.องค์กรต้องมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดระดับที่ 3 ทุกข้อ 2. องค์กรต้องมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และนำมาปฏิบัติให้เกิด 3.องค์กรต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง 4. องค์กรต้องเคารพ พิจารณา และตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ด้านประเด็นสิ่งแวดล้อม 5. องค์กรต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม 6. องค์กรต้องเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางสากลในด้านสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ที่กฎหมาย หรือการดำเนินการตามกฎหมายยังไม่พอเพียงสำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ องค์กรต้องผลักดันให้เกิดความเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล 7. องค์กรต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี และให้การยอมรับถึงความสำคัญและความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อม 8. องค์กรต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ