44 ปี กคช. ลบภาพลักษณ์เก่า สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ดันองค์กรสู่ยุค 4.0 คลอด 148 โครงการกั้น 10 เปอร์เซ็นต์ให้สิทธิ์ผู้สูงอายุ
การเคหะแห่งชาติ หรือ กคช. เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี 2516 จากปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ขึ้น
ต่อมา ปี 2504 ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานอาคารสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์,ธนาคารอาคารสงเคราะห์,และสำนักงานปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมเทศบาลนครกรุงเทพ จนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงมีการกำหนดนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยขึ้น และได้จัดตั้ง การเคหะแห่งชาติ ขึ้น
ปัจจุบัน การเคหะแห่งชาติเปิดดำเนินการมาแล้ว 44 ปี ภายใต้การบริหารงานโดยนายธัชพล กาญจนกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ซึ่งได้ให้วิสัยทัศน์การพัฒนาการเคหะแห่งชาติไว้ว่า จากนี้ 4 ปีที่ตนเข้ามาบริหารงานได้ตั้งเป้าหมายผลักดันองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ระบบการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล ในเรื่องบุคลลากรจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส่ ทันสมัยและใส่ใจประชาชน
“จากนี้ไปต้องหันมาพัฒนาองค์กรให้มากขึ้นโดยจะจัดทำ ศูนย์วัฒนธรรม วันสต๊อปเซอร์วิส โดย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการให้บริการ มีระบบออนไลน์ เพื่อสะดวกต่อการเข้ามาดูโครงการและเป็นแรงจูงใจให้ผู้ซื้อสนใจโครงการของ กคช.มากขึ้น” นายธัชพล กล่าว
ล่าสุดรับนโยบายจาก พม.ทำคอนโดผู้สูงอายุ รูปแบบคอนโดประชารัฐกันพื้นที่ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับให้ลูกค้าผู้สูงอายุประมาณชั้น 2-3 ออกแบบให้เหมาะ มีราวจับ พื้นไม่มีสเต็ป ประตูห้องน้ำใหญ่หน่อยให้วีลแชร์เข้าได้ เหมือนโครงการสวางคนิวาสของสภากาชาดไทย สร้างกลุ่มเฉพาะขึ้นมาทั้งแนวราบ แนวสูงให้ผู้สูงอายุ เริ่มทำปีหน้า ไปดูเชียงใหม่ ดอยสะเก็ด เขาใหญ่ ภูเก็ต ถ้ามีหลายจุดมองว่าทำไทม์แชริ่งให้สลับที่อยู่ได้
สำหรับการกันที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหน่วยก่อสร้างผู้สนใจสามารถส่งหลักฐานการจอง ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) หนังสือรับรองรายได้ หรือสลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ตนเอง และเงินจองตั้งแต่ 1,000 บาท โดยคุณสมบัติของผู้จอง ประกอบด้วย มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้ว มีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาท/เดือน สำหรับการจองโครงการที่ราคาไม่เกิน 740,000 บาท และไม่จำกัดรายได้สำหรับการจองโครงการที่ราคาเกิน 740,000 บาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม กคช.ได้เปิดโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อให้ประชาชนได้จอง จำนวน 148 โครงการ 20,817 หน่วย ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 4,865 หน่วย, บ้านแฝด 1,462 หน่วย, ทาวน์เฮ้าส์ 522 หน่วย, ทาวน์โฮม 1,051 หน่วย, อาคารพาณิชย์ 48 หน่วย และอาคารชุด 12,869 หน่วย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย โครงการบ้านสร้างแล้วเสร็จ,โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และโครงการที่เปิดขายใหม่
โครงการบ้านสร้างแล้วเสร็จมีจำนวน 90 โครงการ 10,614 หน่วย ราคาขายอยู่ระหว่าง 242,000 – 2,600,000 บาท มีทำเลที่ตั้งในกรุงเทพฯ เช่น รามอินทรา (ซอยคู้บอน), ปัญญารามอินทรา, ลาดกระบัง 2 และร่มเกล้า ส่วนทำเลที่ตั้งในปริมณฑล เช่น จ.นนทบุรี (บางบัวทอง, วัดกู้, ซอยกันตนา) จ.ปทุมธานี (รังสิต, สี่แยกปทุมวิไล, ลาดหลุมแก้ว)จ.นครปฐม (ท่าตำหนัก, บ่อพลับ, ศาลายา, พุทธมณฑล) จ.สมุทรปราการ (บางนา, ขจรวิทย์, แพรกษา) จ.สมุทรสาคร (บางกระเจ้า, เศรษฐกิจ, กระทุ่มแบน) และในพื้นที่ภูมิภาค เช่น ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ยโสธร, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, แพร่, ลำปาง, อุตรดิตถ์ และภูเก็ต
โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีจำนวน 38 โครงการ จำนวน 4,600 หน่วย ราคาขายอยู่ระหว่าง 480,000 – 4,450,000 บาท มีทำเลที่ตั้งในกรุงเทพฯ เช่น ร่มเกล้า, ลาดกระบัง, หนองจอก, บางขุนเทียน ส่วนทำเลที่ตั้งในปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี (บางบัวทอง, วัดกู้, ซอยกันตนา) จ.ปทุมธานี (ตลาดไท) จ.นครปฐม (สระสี่มุม) จ.สมุทรปราการ (บางบ่อ, บางปู, เทพารักษ์) จ.สมุทรสาคร (เศรษฐกิจ) และในพื้นที่ภูมิภาค เช่น พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ลพบุรี, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, ลำปาง, พิษณุโลก, เชียงใหม่, ตาก, กำแพงเพชร, บุรีรัมย์, อุดรธานี, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต และกระบี่
โครงการที่เปิดขายใหม่มีจำนวน 20 โครงการ 5,603 หน่วย มีทำเลที่ตั้งในปริมณฑล ได้แก่ จ.ปทุมธานี (รังสิต) และ จ.สมุทรปราการ (เทพารักษ์, บางปู) ส่วนทำเลที่ตั้งในภูมิภาค เช่น สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, นครราชสีมา, ศรีสะเกษ, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ขอนแก่น, นครสวรรค์, สุราษฎร์ธานี, ตรัง และภูเก็ต