กรมศุลกากร ก้าวสู่ปีที่ 148 เดินแผนพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน (ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature : AHTN) ฉบับปี 2022 ให้ทันสมัย สอดคล้องกับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเฝ้าระวังสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมรับรางวัลเลิศรัฐปี 64 สู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาประเทศ
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีสมาชิกขององค์การศุลกากรโลกและเป็นภาคีอนุสัญญาระบบฮาร์โมไนซ์ได้นำระบบการจำแนกประเภทสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลกมาใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2531 ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร และภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า โดยประเทศไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาฯ ได้ดำเนินการแก้ไขระบบพิกัดศุลกากรให้เป็นไปตามการปรับปรุงแก้ไขของระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลกมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงนามและรับพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ (Protocol Governing the Implementation of the ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature) เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนใช้พิกัดศุลกากรในระดับ 8 หลักร่วมกัน โดยพิกัดศุลกากร 6 หลักแรกเป็นไปตามระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลก และ 2 หลักที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามความเหมาะสมภายในของกลุ่มสมาชิกอาเซียน
กรมศุลกากรได้เสนอการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 2 ให้สอดคล้องกับพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized Commodity Description and Coding Systems : HS) และพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน (ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature : AHTN) ฉบับปี 2022 เพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันอนุสัญญาระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลกและพันธกรณีตามพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2564 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประเภท ก ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 138 ตอนที่ 82 ก ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2564 โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
พระราชกำหนดฉบับนี้มีทั้งหมด 21 หมวด 97 ตอน
มีจำนวนพิกัดศุลกากรทั้งสิ้น 11,414 รายการ
ซึ่งเพิ่มจำนวนรายการจาก 10,813 รายการ ในฉบับปี 2017
ขึ้นมาจำนวน 601 รายการ หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น
ร้อยละ 5.27 โดยมีการปรับปรุงพิกัดศุลกากรที่สำคัญ ได้แก่
• การกำหนดประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับสมาร์ทโฟน
โมดูลจอแสดงผลแบบแบน เครื่องจักรสำหรับการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัตถุหรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน
• การกำหนดประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับแมลงที่บริโภคได้
• การกำหนดประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับเศษและของที่ใช้ไม่ได้ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์
(e-Waste)
• การกำหนดประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าที่ใช้ได้
2 ทาง (Dual-use Items) เช่น ธาตุกัมมันตรังสีและไอโซโทป
• การกำหนดประเภทพิกัดศุลกากรในระดับอาเซียนสำหรับข้าวโพดหวาน
น้ำมะพร้าว น้ำกะทิ เครื่องแลกเงินตรา ยานยนต์สามล้อ รถกระบะ
พิกัดศุลกากรที่มีจำนวนรายการแก้ไขมากที่สุด
3 ลำดับแรก ได้แก่ ตอนที่ 87
(ยานบก)
เพิ่มขึ้น 134
รายการ
(2) ตอนที่ 85 (อุปกรณ์ไฟฟ้า) เพิ่มขึ้น 74 รายการ (3) ตอนที่ 44 (ไม้) เพิ่มขึ้น 39 รายการ
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในการเตรียมความพร้อมสำหรับพิกัดศุลกากรฉบับใหม่กรมศุลกากรได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์และพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับปี 2022 ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกและตัวแทนออกของให้มีความรู้ ความเข้าใจพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลกและพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน เพื่อให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนฉบับปี 2022 เป็นไปอย่างถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว ลดข้อขัดแย้งในการจำแนกประเภทพิกัดของสินค้า ลดภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ซึ่งจะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับผลงานคุณภาพทางกรมศุลกากร ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประเภทรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า และรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทรางวัลพัฒนาการบริการ ระดับดี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาอีกด้วย