การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. เดินหน้ามหานครไร้สายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมนำนวัตกรรมล้ำสมัยมาพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งอนาคต
สำหรับปีนี้ กฟน. เร่งเดินหน้าแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจพร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนการเป็น มหานครไร้สาย Smart Metro
ปัจจุบัน กฟน. ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 45.6 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 169 กิโลเมตร ซึ่งในปีนี้ กฟน. ยังมีพื้นที่จะดำเนินการ ได้แก่ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการรัชดาภิเษก-อโศก โครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง)และโครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)ถนนนานาเหนือและถนนวิทยุ
ทั้งหมดนี้ช่วยให้ระบบให้บริการกฟน. สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้การจัดลำดับ Doing Business ของประเทศไทยด้านการขอใช้ไฟฟ้าในปี 2562 ที่จะถึงนี้ ดีขึ้นกว่าปีนี้ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และจะเป็นผลให้การขอใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย สะดวกรวดเร็ว ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย รวมถึงการพัฒนาช่องทางการชำระค่าไฟฟ้าเพื่อความสะดวกเพิ่มเติมโดยร่วมมือกับ ธ.กรุงไทย พัฒนาระบบการรับชำระค่าไฟฟ้าจากลูกค้าด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามธนาคารโดยใช้การสแกน QR Cross Bank บนใบแจ้งค่าไฟฟ้าได้ทันที
ขณะเดียวกัน กฟน. กำลังพัฒนาระบบแจ้งประกาศดับไฟ 1 ต่อ 1 เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งข้อมูลตรงเป้าหมายเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฟน. ได้จัดทำ MEA EV Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดย กฟน. พร้อมเดินหน้าเป็นผู้นำในการควบคุมจัดการระบบให้บริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อใช้กำกับดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าในการสนับสนุนภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้มีความเพียงพอ มั่งคง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ซึ่ง กฟน. สนับสนุนอย่างเต็มที่โดยจับมือกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งกระทรวงพลังงาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการเดินหน้าสู่ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579