ค่ายแอร์แข่งเดือด ชิงตลาดแอร์เวียดนาม “ไดกิ้น”ทุ่มทุนขยายฐานรับดีมานด์พุ่ง

มาซาโนริ โทกาวะ ซีอีโอบริษัทไดกิ้น เปิดเผยว่า ขณะนี้การเพิ่มขึ้นของครอบครัวชนชั้นกลางจะสามารถกระตุ้นดีมานด์แอร์ในระยะยาว จึงต้องเร่งขยายกำลังผลิตและช่องทางกระจายสินค้าเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งเช่นเดียวกับ แอลจีซึ่งลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อขยายกำลังผลิตต่อเนื่องจนถึงปี 2571 และค่ายญี่ปุ่นอย่างพานาโซนิคที่ขยายกำลังผลิตของโรงงานในมาเลเซียเพื่อรองรับตลาดเวียดนามด้วย

ปัจจุบันแบรนด์ 5 อันดับต้นๆของตลาดแอร์เวียดนามประกอบด้วย ไดกิ้น-พานาโซนิคซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันที่ 25 เปอร์เซ็นต์ รองมาจะเป็นแอลจี,ซัมซุงและอีเลคโทรลักซ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ญี่ปุ่นสูงสะท้อนจากระดับราคาแอร์แบรนด์ญี่ปุ่นที่เครื่องละ 12.7 ล้านด่อง สูงกว่าแบรนด์เกาหลี 30เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่าแบรนด์จีนถึง 80เปอร์เซ็นต์ แต่ยังสามารถทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้การแข่งขันในตลาดแอร์ของตลาดเวียดนามมีแนวโน้มการแข่งขึ้นที่ดุเดือดขึ้น ซึ่งน่าจับตาว่าแบรนด์เกาหลีและจีนจะสามารถไล่ตามแบรนด์ญี่ปุ่นได้เช่นเดียวกับในตลาดอื่นๆหรือไม่

จากข้อมูลพบว่าตลาดระบบทำความเย็นในประเทศเวียดนามกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอันดับ 8 ของเอเชียในปี 2554 พุ่งทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ได้ในปี 2559 เป็นรองเพียงอินเดียและอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถแซงไทยขึ้นเป็นอันดับ 2 ภูมิภาค

สมาคมอุตสาหกรรมแอร์และเครื่องเย็นของญี่ปุ่นประเมินว่าตั้งแต่ปี 2554-2559 ตลาดแอร์เวียดนามเติบโตถึง 3 เท่าตัว จากยอดขาย 6.6 แสนเครื่องเป็น 1.98 ล้านเครื่อง หรือประมาณ 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ ดีมานด์จากหัวเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ ฮานอย ฯลฯ ซึ่งจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ในขณะที่การครอบครองแอร์ที่ต่ำเพียง 17เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนทำให้มีผู้ซื้อแอร์ตัวแรกจำนวนมาก

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่ากระแสนี้ได้ดึงดูดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ทำความเย็นจากทั่วโลก อาทิ ไดกิ้น แอลจี พานาโซนิค อีเลคโทรลักซ์ และอีกหลายรายหันมาสนใจตลาดเวียดนามมากขึ้น พร้อมระเบิดศึกชิงเค้กมูลค่ามหาศาลก้อนนี้ ด้วยการปูพรมสินค้าและปักฐานตั้ง-ขยายโรงงานเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด

โดยไดกิ้น เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ทุ่มทุนในตลาดนี้เต็มที่ โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดขายจาก 5 หมื่นเป็น 1 แสนล้านเยนภายในปี 2563 ทั้งเปิดโรงงานมูลค่า 1 หมื่นล้านเยน มีกำลังผลิต 1 ล้านยูนิตต่อปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในย่านชานเมืองฮานอย พร้อมนำโนว์ฮาวตลาดที่เติบโตเร็วอย่างอินเดีย และเทคโนโลยีไอโอทีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงเดินหน้าฝึกอบรมบุคลากรอีกกว่า 1 หมื่นอัตรา เพิ่มดีลเลอร์ 3 เท่าเป็น 2,000 ราย และศูนย์บริการ 25 แห่งภายในปี 2563