ถิรไทยเปิดแผนงานปี 60 ลงงบกว่า 400 ล.สร้าง รง.แห่งที่ 3 ฟุ้งภายในปี 61 รายได้ทะลุ 5 พันล้าน

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิตจำหน่ายและซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาด เปิดเผยถึงทิศทางบริษัทฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ว่า ระหว่าง 2016 – 2018 บริษัทยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผลพวงมาจากการขยายตัวของการใช้พลังงานไฟฟ้าและกลุ่มพลังงานทดแทน

บริษัทได้ตั้งเป้าภายในปี 2561 รายได้จะปรับตัวขึ้นไปแตะที่ระดับ 4.9 พันล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมี Backlog แล้วกว่า 3,463 ล้านบาท โดยส่งมอบแล้วในปี 2559 กว่า 2,568 ล้านบาท และปีนี้อีกมูลค่ากว่า 527 ล้านบาท และปี 2561 มูลค่า 368 ล้านบาท ซึ่งทำให้มั่นใจรายได้ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

“เรามีเป้าหมายในการเข้าไปรับงานส่วนของโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยสนใจรับงานโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบ ทั้ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน ,Natural Gas ,พลังงานน้ำ และ Renewable เป็นต้น

นายสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังเข้าประมูลงานอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ผ่านมาประมาณยอดรวมกว่า 10,405 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานในกลุ่มภาครัฐบาลกว่า 6,300 ล้านบาท และในภาคเอกชนในประเทศอีกกว่า 1,170 ล้านบาท และส่งออกอีกกว่า 810 ล้านบาท และในกลุ่มของงานบริการซ่อมบำรุงหม้อแปลง 575 และในกลุ่มที่ไม่ใช่หม้อแปลงไฟฟ้าอีกกว่า 1,550 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถประมูลงานได้ไม่ต่ำกว่า 20-25 เปอร์เซ็นต์

สำหรับทิศทางของบริษัทในกลุ่ม TRT มีแผนที่จะเพิ่มยอดขายให้ถึง 5,000 ล้านบาท ในปี 2561 ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพของกลุ่มงาน Steel Fabrication และงาน EPC ด้วยการเตรียมแผนเพื่อเข้ารับการรับรองมาตรฐานขั้นสูงต่างๆ ทั้งด้านศักยภาพการผลิต และบุคลากร เพื่อเพิ่ม Value Added ที่จะสามารถทำให้ยอดขายของงานกลุ่มงานนี้สามารถเติบโตจาก 486 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 1,000 ล้านบาท ในปี 2561

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การขยายฐานตลาดส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นตลาดในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ AEC ที่ต้องการวิศวกรรมการออกแบบซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดส่งออกจาก 650 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 880 ล้านบาท ในปี 2561 หรือมีอัตราเติบโตคิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์

สำหรับกลยุทธ์การเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากแผน PDP 2015 ซึ่งประมาณการงบลงทุนในโครงการระบายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำหรับปี 2559-2563 ต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่ง TRT มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25-30เปอร์เซ็นต์

บริษัทมีการลงทุนโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าหรือโรงงานแห่งที่ 3 ของ TRT มูลค่าการลงทุนกว่า 400-500 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 เมกะโวลต์แอมแปร์ จากเดิมอยู่ที่ 5,000 เมกะโวลต์แอมแปร์ เพื่อเข้ามารองรับคำสั่งซื้อหม้อแปลงที่เข้ามาเพิ่มขึ้น โดยรองรับกำลังการผลิตไปถึง 5-7 ปี ข้างหน้าอีกด้วย

“นอกจากนี้ บริษัทมีแผนนำบริษัทย่อยคือ บริษัท แอล.ดี.เอส. เมทัล เวิร์ค ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างงานเชื่อมประกอบเหล็กสำเร็จรูป เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จากการดำเนินงานที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งปัจจุบันได้รับงานโรงไฟฟ้าหงสา มีสัญญา 4.5 ปี จะทยอยรับรู้ในปี 2559-2561 ปีละ300 ล้านบาท” นายสัมพันธ์ กล่าว

ประวัติ

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งการให้บริการติดตั้ง ซ่อมบำรุง และทดสอบหม้อแปลงไฟฟ้า โดยในช่วงปี 2554-2557 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม จากในประเทศมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าจะแยกออกเป็น 3 โรงงาน

ปัจจุบันบริษัทฯเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศรายเดียวที่ผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลง ไฟฟ้าระบบจำหน่าย โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจาก Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG ประเทศออสเตรีย และบริษัท Fuji Electric Systems Co., Ltd ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ชั้นนำของโลก ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในบริษัทย่อย 3 บริษัท เพื่อผลิตวัตถุดิบแปรรูปส่งให้บริษัท

 

บริษัท ไทยฟิน จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ประกอบธุรกิจผลิต จำหน่าย ซ่อมแซมและบำรุงรักษาตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้าและ อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ ฝาถัง ครีบระบายความร้อน แคลมป์ เป็นต้น โดยผลิตและจำหน่ายให้กับบริษัทฯเพียงรายเดียวเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่ม ในบริษัท ไทยลน จำกัด จำนวน 5 ล้านบาท ในเดือนกันยายน 2549 เพื่อลงทุนซื้อและปรับปรุง เครื่องมือ เครื่องจักร และอาคารโรงงาน สำหรับ รองรับการขยายกำลังการผลิต ส่งผลให้บริษัท ไทยฟิน จำกัด มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเป็น 15 ล้านบาท ซึ่ง บมจ.ถิรไทย ถือหุ้น 99.99 เปอร์เซ็นต์

บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด ประกอบธุรกิจ ขายติดตั้งและบริการอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลัง และตั้งขึ้นตามแผนโครงสร้างธุรกิจที่ต้องการ แยกหน่วยธุรกิจต่างหาก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานและการแข่งขันในตลาด และได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2553 โดยมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ซึ่ง บมจ.ถิรไทย ถือหุ้น 99.99 เปอร์เซ็นต์

บริษัท แอล.ดี.เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ประกอบธุรกิจรับจ้างงานเชื่อมประกอบเหล็กแปรรูปทั่วไป โดยมีความชำนาญพิเศษในการผลิตตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยตัวถังหม้อแปลงขนาดใหญ่ที่จุดที่สามารถผลิตได้ในปัจจุบันคือขนาด 300 MVA ซึ่งจำหน่ายตัวกังหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับ บมจ.ถิรไทย คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม โดยที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 85เปอร์เซ็นต์จากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งได้รับอนุมัติให้เข้าทำรายการจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบหลัก ในการผลิตให้ทันกับการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน และขยายโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องและขยายการเติบโตของบริษัทให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้