ธปท. ปรับลดจีดีพี ห่วงส่งออกชะลอตัว

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับประมาณเศรษฐกิจใหม่ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำระดับศักยภาพ จึงปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี62 ลงมาอยู่ที่ 2.5เปอร์เซ็นต์ จาก 2.8เปอร์เซ็นต์

สำหรับปี 2563 ปรับการเติบโตเหลือ 2.8เปอร์เซ็นต์ จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.3เปอร์เซ็นต์ มาจากภาคการส่งออกชะลอตัวเป็นสำคัญ โดยปรับตัวเลขการส่งออกปีนี้ติดลบ 3.3เปอร์เซ็นต์ จากเดิมอยู่ติดลบ 1เปอร์เซ็นต์ และในปี 2563 เหลือขยายตัว 0.5เปอร์เซ็นต์ จากเดิมอยู่ที่ 1.7เปอร์เซ็นต์

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยกรอบในปี 2562 ปรับ 0.8เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 0.7เปอร์เซ็นต์ และปี 2563 จาก 1.0เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 0.8เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้ง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce การแข่งขันต้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ตันทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

“การปรับลดจีดีพีมาจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว แม้ว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่การส่งออกยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงแรงกระตุ้นการลงทุนภาครัฐช้ากว่าที่คาด ทั้งรัฐวิสาหกิจและภาครัฐ ซึ่งบางโครงการเลื่อนไปปี 63”