นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เรามีกลุ่มผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี จากประเทศญี่ปุ่น
จากตัวเลขที่สมาคมได้รวบรวมเอาไว้ มีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นเทียร์ 1 ประมาณ 700 ราย ส่วนเทียร์ 2 และ 3 รวมกันแล้วก็ประมาณ 1,700 ราย รวมๆกันแล้วเรามีกลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย กว่า 2,500 ราย และมีแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 600,000 คน
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นไปตามอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม แต่อาจจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าเล็กน้อย ตั้งแต่ปี 2556 การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์มีการเติบโต 5.91เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 16,470 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2557 เติบโต 4.19 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 17,161 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2558 มีการเติบโตลดลงไปเล็กน้อย คือ 3.69 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 16,529 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาติดลบเล็กน้อย 0.85 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 6,878 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนหนึ่งเราต้องมาดูด้วยว่าเนื่องจากตลาดคู่ค้ามีปัญหาภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว ประกอบกับการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเพื่อนบ้านที่ให้สิทธิประโยชน์และการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายๆของประเทศไทยส่งผลให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง
สำหรับตลาดส่งออกในปีนี้ สมาคมมองตัวเลขมูลค่าการส่งออกไว้เติบโตที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้มีเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าบวกกับสถานการณ์โดยรวม สมาคมประเมินตลาดว่าไม่น่าจะถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่น่าจะถึง 2-3 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน เพราะเรายังเป็นฮับในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับการรองรับผลิต รถยนต์ประเภทต่างๆอยู่ ทั้งปิกอัพขนาด 1 ตัน และอีโคคาร์ ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนส่งออกในส่วนของรถยนต์เป็นจำนวนคันนั้นอาจจะลดลง แต่ในเชิงมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์นั้นไม่น่าจะลดลงมากนัก
อย่างที่ทราบสมาคมมีการยื่นหนังสือ สศอ.ขอทบทวน ย้ำควรมีโรดแมปชัดเจน เพื่อให้ทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพยายามสะท้อนถึงผลกระทบที่ตามมาซึ่งจริงๆทางสมาคมเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่ต้องเกิดแต่แน่นอน ว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีความชัดเจนนั้น อาจจะกระทบระบบซัพพลายเชนและการจ้างงาน จากเดิมที่รถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในการขับเคลื่อนซึ่งมีชิ้นส่วนที่ นำมาผลิต ตัวอย่างแค่ระบบการขับเคลื่อนซึ่งมีมากกว่า 2,000 ชิ้น ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2,500 ราย และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนมากกว่า 600,000 คน ตรงนี้จะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนจะใช้ชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ชิ้น เท่านั้น อาทิ ระบบทำความเย็น ระบบมอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบชาร์จไฟ และแบตเตอรี่ เท่านั้น และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อมูลค่าการส่งออก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตรถปิกอัพและอีโคคาร์ ซึ่งถือเป็นตลาดหลัก โดยเฉพาะอีโคคาร์ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทาง หากรัฐบาลสนับสนุนรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่มีโรดแมปให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว เชื่อว่าน่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อการลงทุนของประเทศไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะต้องมีนโยบายการส่งเสริมที่ชัดเจนในเชิงนโยบาย และตัวเลขการส่งออกที่เห็นผลชัดเจน จากการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปอินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่อินโดนีเซียคือประเทศที่เราส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไป จำหน่ายเป็นอันดับหนึ่งนี่คือคำถามที่เราจะต้องมาหาคำตอบว่าเป็นเพราะอะไร อินโดนีเซียนั้นจะเห็นว่า ตัวเลขส่งออกในปี 2556 ยังบวกอยู่ 0.07 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1,879 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2557 ติดลบไปประมาณ 6.48 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1,758 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2558 มูลค่าเหลือ 1,298 ล้านเหรียญสหรัฐ