ปตท.ชูรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส่ ครั้งที่ 11 วางหมากลงทุน 93,598 ลบ.ลุยเมกะโปรเจคปี 66

ปตท. ปลื้มรับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 เดินแผนปรับงบลงทุนปี 2566 ใหม่เป็น 93,598 ล้านบาท ด้วยการลงทุนเพิ่มในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ ปรับ เปลี่ยน ปลูกขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2583

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท.ได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 (NACC Integrity Awards) ประจำปี 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สะท้อนการเป็นองค์กรที่บริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล และมีจริยธรรม เพื่อยกระดับความโปร่งใสของประเทศไทยให้เป็นแบบอย่างตามมาตรฐานสากล

          ทั้งนี้ ปตท. ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส 5 ปีต่อเนื่อง ประกอบด้วย รางวัลองค์กรโปร่งใส จำนวน 2 ครั้ง และรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อตรง และนับเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท. ที่ได้รับการยอมรับในความทุ่มเทต่อการบริหารจัดการองค์กรบนหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

นายอรรถพล  กล่าวต่อว่า  คณะกรรมการปตท.ในการประชุมคร้ังที่ 6/2566 ได้ทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 และอนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 จาก 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60,254 ล้านบาทโดยมีรายละเอียดงบลงทุนปี 2566 ดังนี้ คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จากเดิม 10,023 ล้านบาท ปรับเป็น 9,162 ล้านบาท ลดลง 861 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากเดิม 7,503 ล้านบาท เป็น 7,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย จากเดิม 863 ล้านบาท เป็น 769 ล้านบาท ลดลง 94 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ จากเดิม 2,440 ล้านบาท เป็น 1,943 ล้านบาท ลดลง 497ล้านบาท การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 จาก 12,515 ล้านบาท เป็น 73,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,264 ล้านบาท

การทบทวนแผนการลงทุนข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 เช่น เงินลงทุนสำหรับรองรับการร่วมลงทุนของบริษัทพีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 และการร่วมลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรโดยหลัก จากโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ บริษัท ฮอริษอนพลัส จำกัด และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยของบริษัท อรุณพลัส จำกัด
            ขณะที่การลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของ ปตท. เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

นายอรรถพล กล่าวตอนท้ายว่า  ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563-2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น


            ทั้งนี้ ปตท.เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยนสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตันต่อปี