สหโคเจนฯ เปิดศูนย์เพาะชำการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกไผ่คืนผืนป่าสร้างอาชีพ รวมทั้งได้จัดประชุมครั้งที่ 1 ต่อร่างโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสหโคเจน (ส่วนขยาย ระยะที่ 4) ต่อเนื่อง ด้านทิศทางการใช้พลังงานไฟฟ้าปี 63 เพิ่มขึ้น 2.6 เปอร์เซ็นต์
บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ตามโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงงานต่างๆ ในเขตพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในลักษณะของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration Combined Cycle Plant) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็น เชื้อเพลิง
บริษัทฯ ได้ขยายกำลังการผลิตและตั้งบริษัทย่อย ซึ่งได้แก่ บริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด และ บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด ตามโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Very Small Power Producer: VSPP) ในลักษณะของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ โดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง
บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) กับบริษัท สยามฟอรสทรี จำกัด (ในเครือซิมนไทย) ดำเนินธุรกิจผลิตพลังงานไฟจากชีวมวล โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ชีวมวลที่นำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้จากเปลือกและปลายไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นเศษเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษของกลุ่มธุรกิจกระดาษ ในเครือซิเมนต์ไทย ร่วมกับการจัดซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นได้แก่ เหง้ามันสำปะหลัง แกลบ ซังข้าวโพด เป็นต้น
ล่าสุดนายวิโรจน์ ธีรวัฒน์วาที กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ร่วมงานเปิดศูนย์เพาะชำการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สวนนายล้วน พรมคำ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งสหโคเจนได้ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกไผ่คืนผืนป่าสร้างอาชีพ หนึ่งในโครงการประชารัฐเครือสหพัฒน์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายดลภาค เนตรใส นายอำเภอภูเพียง มาเป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยผู้บริหาร ผู้นำชุมชน และประชาชนในท้องถิ่นเข้าร่วมเปิดงานอีกด้วย
ทั้งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาทางบริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัดได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสหโคเจน (ส่วนขยาย ระยะที่ 4) โดยมี คุณสมคิด พุ่มฉัตร (ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม) และคุณดวงกมล พรหมสุวรรณ (ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม) เป็นวิทยากร ในการประชุมครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 3 เวที มีผู้เข้าร่วมประชุมจากส่วนราชการ สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่รวมกว่า 550 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเพื่อดำเนินตามโครงการดังกล่าวต่อไป
แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563
ข้อมูลอ้างอิงสมมติฐานด้านเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ที่ประเมินว่า ในปี2563 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) จะอยู่ที่ 2.7-3.7 เปอร์เซ็นต์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่หลายสำนักฯ ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 55-63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นคาดการณ์ก่อนเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับข้อมูลในปี 2562
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ เปิดเผยว่า สนพ.ได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงพยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 โดยประเมินว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 อยู่ที่ 2,777 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้น 1.8 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน ที่คาดว่าจะเติบโตราว 1.2 เปอร์เซ็นต์ ,ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 1.4 เปอร์เซ็นต์,พลังงานทดแทน เพิ่มขึ้น 3.9 เปอร์เซ็นต์ ,ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 7.3 เปอร์เซ็นต์ จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวที่เข้าระบบจำนวน 3 โรง ช่วงปลายปี 2562 และก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 2563 เพิ่มขึ้น 2.6 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) ของประเทศในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 37,437 เมกะวัตต์(MW) เพิ่มขึ้น 0.3 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น คาดว่า อุณหภูมิจะอยู่ที่ 38 องศา จาก Peak ในปี 2562 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 เวลา 14.27 น. อยู่ที่ระดับ 37,312 เมกะวัตต์(MW) ขณะที่ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) ของ 3 การไฟฟ้า(การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1.4 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน