คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ผนึกกำลังสร้างโอกาสทางธุรกิจ ชักจูงการลงทุนในไทยและอาเซียน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ข้อตกลงนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานบีโอไอ กับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการดำเนินธุรกิจใน ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
ผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในประเทศไทย หรือผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะไปลงทุนในต่างประเทศ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายระดับภูมิภาคของธนาคารเพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมอุตสาหกรรม และบริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการขยายธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย ซึ่งบีโอไอพร้อมที่จะทำงานร่วมกับธนาคารยูโอบีในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานจับคู่ธุรกิจ นิทรรศการด้านการค้าการลงทุน และงานสัมมนาเพื่อชักจูงการลงทุน
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเดินหน้าเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมสำคัญ ภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2566 มีจำนวน 910 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49% คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 398,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% โดยเป็นการลงทุนจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
การผนึกกำลังระหว่างบีโอไอกับธนาคารยูโอบีครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมการลงทุน 2 ทาง ทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้ออกไปแสวงหาโอกาสและขยายตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ขยายธุรกิจเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมระดับโลก เพื่อตอบโจทย์การเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค