“กรมเจ้าท่า” กางยุทธศาสตร์ปี 66 งบ 5.22 พันล้านบาท เดินแผนพัฒนาเทคโนโลยี การบริการ รุกการท่องเที่ยวทางน้ำของประเทศ
สู่ปีที่ 164 “กรมเจ้าท่า” ลุยแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกปี 66 งบกว่า 5.22 พันล้านบาท
ภารกิจเพิ่มศักยภาพกิจการเดินเรือไทย พัฒนาบุคลากร ใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสะดวก
มาตรฐานสากล ความปลอดภัยสูงสุด สร้างรายได้จากท่องเที่ยว
พร้อมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า
การก้าวสู่ปีที่ 164 ในปี 2566 กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 5.22 พันล้านบาท
โดยมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
แผนการบูรณาการส่งเสริมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 357 ล้านบาท
เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
หลังจากที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น
และการท่องเที่ยวทางน้ำนับเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย
ด้วยความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
แผนการพัฒนาให้บริการด้วยโครงสร้างพื้นฐานระบบ
โลจิสติกส์ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ
และมีความพร้อมในการแข่งขัน ประมาณ 1,050 ล้านบาท
และแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ ประมาณ 125 ล้านบาท
“ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของกรมเจ้าท่าต่อเป้าหมายในการผลักดันและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ และมาตรการกำกับดูแลให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2580 ที่จะนำมาสู่แผนปฏิบัติการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายสมพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้กรมเจ้าท่ายังได้จัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกทั้งในมิติทางด้านการส่งเสริม การสนับสนุน การกำกับดูแล เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำของไทย ทั้งในด้านการพัฒนาและผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อการขยายธุรกิจการเดินเรือของไทยที่มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยต้องคำนึงถึงการให้บริการขนส่งทางน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มข้น ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารตลอดน่านน้ำไทย ทั้งระบบท่าเรือ เรือ ผู้โดยสารเรือ โดยเฉพาะคนประจำเรือต้องผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล
นายสมพงษ์ กล่าวตอนท้ายว่า กรมเจ้าท่าได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการขนส่งแบบบูรณาการ รวมถึงการสนับสนุนเพื่อแก้ไขให้กับภาคประชาชนในด้านบรรเทาสาธารณภัย และภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากภัยแล้ง และอุทกภัย พร้อมไปกับเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตามแผนการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ