บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมรุกเพิ่มกำลังการผลิต-ลงโปรดักต์ใหม่ วางเป้าบุกตลาดต่างประเทศมั่นปี 63 รายได้พุ่ง 1,000 ล้านบาท
บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมส่ง “เกรซ” เผยยอดพุ่งกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มุ่งลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตรองรับดีมานด์ไทย-ต่างประเทศ พร้อมลอนช์โปรดักต์ใหม่ทุกเดือน เล็งออกสินค้าราคาถูกเจาะตลาดล่าง รุกเดินหน้าบุกต่างประเทศ ตั้งเป้าสิ้นปี 63 มั่นรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท อีก 3-5 ปี ทะลุ 3,000 ล้านบาท
นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์จากพืชและย่อยสลายได้ ภายใต้แบรนด์ “เกรซ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากกระแสการรณรงค์ลดการใช้โฟมและพลาสติกทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทดแทนบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติกมากขึ้น ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือโตขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว จากตลาดบรรจุภัณฑ์โฟมและพลาสติกที่มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโปรเซสซิ่งฟู้ด คือ บรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารประเภทอาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว 7 หมื่นล้านบาท และอินสแตนต์ฟู้ด คือบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ มีปัจจัยมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีก ค้าส่ง และร้านอาหาร ที่หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้แทนโฟมและพลาสติกมากขึ้น
จากแนวโน้มของตลาดบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายที่ได้เติบโตจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ตลาดเริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าสิ้นปีนี้ตลาดบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายจะได้เติบโตเป็นเลขสองหลักหรือดับเบิลดิจิต
“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องยากมากที่จะเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เนื่องจากราคาพลาสติกจะถูกกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เกือบจะเท่าตัว แต่ตอนนี้เมื่อคอนซูเมอร์เริ่มเปลี่ยน บวกกับกระแสการรณรงค์การลดใช้พลาสติกที่มีมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ลดลง ส่งผลกระทบให้ร้านค้าต่าง ๆ ที่เป็นคนกลางต้องปรับตัวและยอมจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค”
สำหรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในช่วงจากนี้ไป หลัก ๆ จะมุ่งไปที่การลอนช์โปรดักต์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่ม และมีแผนจะลอนช์โปรดักต์ใหม่ ๆ ทุก ๆ เดือน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า จากตอนนี้โปรดักต์มีอยู่มากกว่า 100 รายการ และนอกจากวัตถุดิบจากชานอ้อยแล้ว ปัจจุบันยังมีวัตถุดิบที่มาจากผักตบชวา ฟางข้าว เยื่อไผ่ นำมาแปรรูปเป็นภาชนะในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ถ้วย แก้วใส่น้ำ จาน ชาม กล่องบรรจุอาหาร รวมทั้งมีแผนจะผลิตสินค้าราคาถูกเข้ามาทำตลาดเพิ่มเพื่อมาจับตลาดกลุ่มล่าง เนื่องจากมองว่าเซ็กเมนต์นี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ และนอกจากกลุ่มผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และช่องทางค้าปลีกทั่ว ๆ ไปแล้ว ที่ผ่านมาบริษัทยังผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อป้อนให้กับร้านอาหารต่าง ๆ โดยตรง ซึ่งเป็นการจับมือร่วมกันในลักษณะของการทำโคแบรนด์ อาทิ อาฟเตอร์ยู สเต็กลาว นิตยาไก่ย่าง สามเสนวิลล่า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น บริษัทจะยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ “เกรซ” ให้เป็นที่รู้จักและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมกับการส่งทีมขายลงพื้นที่หาลูกค้า การมีทีมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่กลุ่มแม่ค้า แหล่งชุมชนต่าง ๆ ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการให้ความสำคัญในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D โดยจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่
นายแพทย์วีรฉัตร กล่าวต่อว่า นอกจากตลาดในประเทศแล้ว บริษัทจะเร่งขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ที่ในขณะนี้หลาย ๆ ประเทศมีความตื่นตัวในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ประเทศในยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี-อาเซียนจากเดิมที่ส่งออกไปจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น
รวมทั้งมีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเกรซ ไม่ว่าจะเป็นยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ, วอลท์ ดิสนีย์, ไนกี้ทาวน์ (ซีแอตเติล) โดยการทำตลาดในต่างประเทศ โดยหลัก ๆ จะมุ่งเจาะกล่มธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ในประเทศนั้น ๆ หรือบางประเทศพาร์ตเนอร์จะเป็นคนดำเนินการ
“ยุทธศาสตร์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต โดยจะมีการขยายโรงงานผลิตเดิมและสร้างโรงงานใหม่ จากปีที่ผ่านมาได้มีการขยายกำลังการผลิตโรงงานเดิมไปแล้ว เพื่อรองรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของทั่วโลกและเศรษฐกิจในประเทศจะไม่ดีนัก แต่ก็ยังมีออเดอร์ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
นายแพทย์วีรฉัตร กล่าวตอนท้ายว่า จากแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าว ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนหน้านี้ แบ่งสัดส่วนรายได้ในประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ ต่างประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ และภายในอีก 3-5 ปี วางเป้าหมายสร้างรายได้รวม 3,000 ล้านบาท