บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในโอกาสรับ 3 รางวัลเด่น “Marketeer No.1 Brand Thailand 2017-2018” พร้อมนำเสนอแผนการดำเนินงานต่อเนื่องปี 2561 เร่งพัฒนาองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมั่นคงอย่างยั่งยืน
ล่าสุด ปตท. รับ 3 รางวัล แบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย “Marketeer No.1 Brand Thailand 2017-2018” โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน และนายบุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่นร่วมรับรางวัลอเกียรติยศ โดยสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ได้รับรางวัลในหมวด Fuel Stationส่วนคาเฟ่อเมซอน ได้รับรางวัลในหมวด Coffee Shopและ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น ปตท. ได้รับรางวัลในหมวด Engine Oil Car โดยได้รับผลสำรวจความน่าเชื่อถือให้เป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ถือเป็นการตอกย้ำถึงการเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งและบริการได้ตรงใจ ซึ่ง ปตท. ยังคงมุ่งมั่นที่จะตอบแทนผู้บริโภคด้วยการส่งมอบสิ่งที่ดีและมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันระดับโลกต่อไป
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยแผนการดำเนินงานว่า ขณะนี้ ปตท. อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ เพื่อมาศึกษารูปแบบการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ บีอีวี (รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100%) เนื่องจากความเชื่อมั่นว่า ทิศทางการผลิตและความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
ปตท. จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับภาวะดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ที่เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และเป็นโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ให้กับบริษัท โดยจะเข้าไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์บีอีวี ที่ต้องการน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรง โดยมีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและสามารถจะผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ได้แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทในเครือถึงความพร้อมสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อะไรได้บ้าง เพื่อป้อนให้กับรถยนต์บีอีวี
อีกทั้ง การลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กับพันธมิตร หรือ ค่ายรถยนต์ ที่ ปตท. MOU ด้วย และมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ สามารถรองรับการวิ่งในระยะทางไกลได้ หากดำเนินการได้จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่มีราคาถูกลงและทำให้รถยนต์บีอีวีการใช้ที่แพร่หลายมากขึ้น
สำหรับโครงการลงทุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ ปั๊มชาร์จแบตเตอรี่ ตลอดจนระบบโครงการสถานีชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อให้ครอบคลุมนั้น ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่ง และคาดว่าภายในปีนี้จะเปิดให้ครบ 21 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาการจัดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ได้มีความร่วมมือกับทาง BMW ในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน รวมถึงศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือ ดีลเลอร์รถยนต์บีอีวี เนื่องจากเห็นว่า เมื่อมีการก่อสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่นอกสถานีบริการน้ำมันแล้ว ควรจะมีโชว์รูมตั้งขึ้นควบคู่ด้วย เพราะเห็นว่า โชว์รูมต่างๆ คงไม่อยากจะจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันและใช้ไฟฟ้าในโชว์รูมเดียวกัน และเมื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายต้องขยายธุรกิจไปสู่การบริการสนับสนุนการใช้รถยนต์บีอีวี ที่จะต้องมีศูนย์บริการซ่อม การประกันยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน ปตท. ก็มีศูนย์บริการ FIT ที่ดำเนินงานให้บริการซ่อมรถยนต์อยู่แล้ว
นายเทวินทร์ กล่าวปิดท้ายว่า การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการต่างๆ อาจจะใช้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี แต่จะอยู่ในแผนที่ ปตท. วางไว้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนี้ อย่างแน่นอน ส่วนงบการลงทุนจะเป็นเท่าใดนั้น ต้องขึ้นกับผลการศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจก่อน