บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ เคเอฟซีในโอกาสพัฒนาระบบการบริหารกิจการร้าน KFC เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์แบบเต็มตัว 100% ยึดมั่นการบริหารร้าน KFC โดยยัมเรสเทอรองตส์ พร้อมจับมือ 3 แฟรนไซส์ เร่งขยายสาขาใหม่ให้ได้ 800 สาขาในปี 2563
นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซีประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 33 ปี ที่เคเอฟซีดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ดำเนินธุรกิจ ร่วมสร้างการเติบโตจนทำให้เคเอฟซีครองความเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในไทยอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวันนี้ได้มีพันธมิตรแฟรนไชส์ที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ แฟรนไชส์รายที่สอง บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (อาร์ดี) และแฟรนไชส์รายล่าสุด เดอะคิวเอสอาร์ออฟเอเชีย (คิวเอสเอ) ซึ่งการโอนสิทธิ์การบริหารร้านเคเอฟซี 252 สาขาจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา
ภายหลังจากนี้บทบาทของยัมฯ จะมุ่งเน้นถึงการสร้างแบรนด์เคเอฟซี โดยย้ำว่า “ไม่ใช่การขายกิจการ แต่เป็นการขายแฟรนไชส์เท่านั้น” โดยการขาย “แฟรนไชส์” ให้กับบริษัทคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จะมาเป็น 1 ในผู้รับแฟรนไชส์ ดูแลสาขา KFC ที่เหลืออยู่ ซึ่งลงทุนโดย ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำนวน กว่า 240 สาขา พร้อมกับขยายสาขาในอนาคตโดยที่ยัมฯ จะโอนย้ายพนักงานของ KFC ราว 7,200 คนในกว่า 240 สาขา (เฉลี่ยสาขาละ 30 คน) ไปให้กับทางไทยเบฟ รวมทั้งทีมงานที่บริหารจัดการสาขาที่ดูแลสาขาแต่ละพื้นที่ก็อยู่ภายใต้ไทยเบฟด้วย ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับที่เคยขายแฟรนไชส์ให้กับคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย
นางแววคนีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุที่เลือก บริษัท คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ในเครือไทยเบฟ เพื่อต้องการองค์กรใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนสาขาใหม่ และปรับปรุงร้านเดิม และสามารถบริหารร้านได้ ซี่งไทยเบฟมีเงินทุนมหาศาล และมีธุรกิจอาหารอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมมากที่สุด ซึ่งบทบาทต่อจากนี้ ยัมฯ ยังคงเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ และเป็นเจ้าของแบรนด์ “เคเอฟซี” เช่นเดิม แต่เปลี่ยนระบบการบริหารกิจการร้าน KFC ไปสู่ระบบ “แฟรนไชส์” เต็มตัว แบบ 100% ผ่านแฟรนไชซี่ 3 ราย ได้แก่ CRG จำนวน 224 สาขา Restaurant Development 128 สาขา และคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย กว่า 240 สาขา ซึ่งทุกรายจะค่าแฟรนไชส์ เพื่อที่ยัมฯ นำไปงบการตลาด ทำโฆษณา รวมถึงพัฒนาเมนูใหม่ๆ
สำหรับแฟรนไชซี่ทั้ง 3 ราย จะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับยัมฯ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสาขา การขยาย การปรับปรุงร้าน เมนูอาหาร และเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้าน KFC ยัมฯ จะเป็นผู้กำหนด และอนุมัติทั้งสิ้น ซึ่งได้วางข้อกำหนดราว 18 ข้อ จะเน้นเรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยในอาหาร ซึ่งภายหลังจากที่ได้ขายแฟรนไชส์ไปทั้งหมด 100% แล้ว ยัมฯ จะปรับโครงสร้างองค์กร หันมามุ่งเน้นการตลาด โฟกัสการ Food Innovation หรือคิดค้นเมนูใหม่ๆ และในการทำการตลาดด้านดิจิทัล และทีมดิจิทัล โดยช่องทางการสื่อสาร เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียต่างๆ ทางยัมฯ ยังคงดูแลเหมือนเดิม
นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมายขยายสาขาให้ได้ 800 สาขา ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมี 601 สาขา เท่ากับว่าแฟรนไชส์ทั้ง 3 ราย ต้องมีสาขาให้ได้รวมกัน 200 สาขา ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งใน 200 สาขานี้ แฟรนไชส์ไหนจะขยายเท่าไหร่ จะขึ้นอยู่กับกำลังของแฟรนไชส์ และต้องผ่านการอนุมัติของยัมฯ แต่สิ่งที่สามารถให้ข้อมูลได้ ณ ขณะนี้ คือ ทาง Restaurant Development ได้วางโรดแมปไว้แล้วตั้งแต่แรก โดยจะเปิดให้ได้อีก 100 สาขาในปี 2563 จากที่ปัจจุบันมี 128 สาขา ที่ทำการดูแลอยู่ แต่กับไทยเบฟยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างการพูดคุย และวางแผนการขยายสาขา โดยต้องรอให้เสร็จสิ้นการโอน 240 สาขาทั้งหมด