“สราวุธ ทรงศิวิไล”เข้ากุมบังเหียนกรมทางหลวงคนที่ 33 ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติสั่งทุกหน่วยในสังกัดแก้ – ป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5
กรมทางหลวง (ทล.)หน่วยงานรับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยมีหน้าที่หลักในการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง อำนวยความสะดวก ปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้ทางรวมถึงพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ เสริมสร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
107 ปีที่กรมทางหลวงดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเต็มกำลัง มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคม ยกระดับมาตรฐานงานอำนวยความปลอดภัยและการให้บริการ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 33 เปิดถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่ากรมทางหลวงได้มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในงานของกรมทางหลวง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งสำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ นำมาตรการตามประเภทงานไปใช้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยควบคุมระดับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ระดับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมทางหลวงจะดำเนินการ จำนวน 8 แห่ง ช่วงเวลา 18.00 – 23.00 น. ปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง เพื่อดักจับฝุ่นละอองฝุ่น PM2.5 ภายหลังปิดระบบจะดำเนินการกวาดพื้นถนน และฉีดล้าง ได้แก่ บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 1 บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 2 บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งประตูวิภาวดีรังสิต (บริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์) บริเวณโรงเรียนหอวัง ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต (บริเวณสะพานลอย หน้าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) กม. 8+400 (บริเวณสะพานลอยหน้าตลาดมารวย) บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) กม. 11+240 (บริเวณสะพานลอยทางเข้าถนนบางกระดี่) บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางลาดกระบัง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ขาเข้า) และบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางลาดกระบัง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ขาออก)
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมดำเนินการขยายการติดตั้งระบบปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูงเพื่อดักจับละอองฝุ่น PM2.5 จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบางปะกง Type A บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางหนองขาม 1 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางหนองขาม 3 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 1 (ช่องทางที่ 1-7) บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 2 (ช่องทางที่ 1-7) บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางโป่ง 3 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพัทยา (ขาออก)
ขณะเดียวกัน ทล.ได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในกรณีการจราจรติดขัดในพื้นที่ก่อสร้างและบริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมทั้ง บูรณาการร่วมกันระหว่างกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อรณรงค์และกำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้ M-Pass และ Easy Pass ต่อไป
ประวัติอธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 33
นายสราวุธ ทรงศิวิไล เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ปี 2507 จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ขนส่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เริ่มต้นรับราชการกรมทางหลวงในตำแหน่งวิศวกรโยธา ฝ่ายแผนงาน กองบำรุง ตั้งแต่ปี 2529 กระทั่งเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักบริหารบำรุงทาง ในปี 2540
- ปี 2545 เป็นผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานผู้รับจ้าง (งานจดทะเบียนผู้รับเหมา), ปี 2547 เป็นผู้อำนวยการแขวงการทางธนบุรี, ปี 2549 ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพ
- ปี 2550 เป็นผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดกลยุทธ์และแผนงานบำรุงทาง สำนักบริหารบำรุงทางจากนั้นปี 2552 เป็นผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา)
- ปี 2556 เป็นรองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายวิชาการ ปี 2557 ย้ายไปอยู่ฝ่ายบำรุงทาง
- ปี 2560-2561 เป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม กระทั่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.)
- ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 33