นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้จัดทำรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดศุลกากรระยะที่1 สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก 5 ชนิด นอกเหนือจากข้าว ได้แก่ 1. ใบชาเขียว 2. มะพร้าวอ่อน 3. กะทิสำเร็จรูป 4. มังคุด และ ทุเรียน
อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดเก็บสถิติที่ชัดเจนผ่านระบบพิกัดศุลกากรของไทย ยกเว้นสินค้าข้าวอินทรีย์ โดยสศก.ได้ติดตามสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ประกาศกรมศุลกากรมีผลใช้บังคับ พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด ช่วง 7 เดือนมีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 720 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 0.08 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของสินค้า 5 ชนิด และมีอัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าอินทรีย์เฉลี่ยในช่วง 7 เดือนอยู่ที่ 30.53 เปอร์เซ็นต์โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด รวมทั้งสิ้น 76 ล้านบาท คิดเป็น 0.16 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าทั้ง 5 ชนิด อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 105.15 เปอร์เซ็นต์
สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดตามลำดับ คือ มะพร้าวอ่อนอินทรีย์ ทุเรียนอินทรีย์และทุเรียนอินทรีย์แช่เย็นจนแข็ง กะทิอินทรีย์สำเร็จรูป ใบชาเขียวอินทรีย์ และมังคุดอินทรีย์
ทั้งนี้ สศก. จะเตรียมเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้จัดทำรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดศุลกากรสำหรับชนิดสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม ในระยะที่ 2 รวมทั้งกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ด้านพัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในการผลักดันให้มีพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง