สู่ 15 ปี ก.พลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนพลังงานตามแนวนโยบาย Energy 4.0

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จาก ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในโอกาสครบรอบ 14 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน และก้าวสู่ปีที่ 15 กระทรวงพลังงาน เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนยึดถือการทำงานด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ภายใต้กรอบแผน 5 เสาหลัก มุ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ยกระดับพ้นกรอบประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างประสิทธิภาพพลังงานอย่างสมดุล ก้าวสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลัง การผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 59.4 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 64.5 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 9.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้เพียง 6.4 เปอร์เซ็นต์รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือ 16.8เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 18.6เปอร์เซ็นต์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในปี 2560 กระทรวงพลังงานยัง จะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และ ระดับชุมชน/ประชาชน โดยในระดับประเทศ จะมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความทันสมัย แข่งขันในตลาดโลกได้ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อ ต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโต และก้าวหน้า ซึ่งสิ่งที่ภาคพลังงานของประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต อาทิ การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาในรูปแบบของ Smart ต่างๆ ทั้งในส่วนของ Smart Grid ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ผ่านระบบสารสนเทศ การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศและมีการส่งไฟฟ้าขายข้ามประเทศ ยกตัวอย่างกรณี ของ LTM ที่มีแผนการส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซีย การเปิดให้มีการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่ารับ LNG รวมถึงการผลิตไฟฟ้าประเภทผสมผสานระหว่างพลังงานธรรมชาติ และพลังงานชีวภาพ