ไฟฟ้าหงสาอัดกำลังเดินเครื่องครบ 3 หน่วย 1,878 เมกกะวัตต์ ชูโรงไฟฟ้าคู่ชุมชน ตั้งเป้าปี 2020 ปชช.บริเวณโรงไฟฟ้าต้องพ้นขีดความจน
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว มีผู้ถือหุ้น 3 รายคือ
1.รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ซึ่งเป็นนิติบุคคลของรัฐบาลลาว ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ 2. บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทในกลุ่มของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท บ้านปูพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินจากการทำเหมืองในพื้นที่โครงการเป็นเชื้อเพลิง ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 626 เมกกะวัตต์ มีกำลังการผลิตรวม 1,878 เมกกะวัตต์ ใช้งบประมาณลงทุนในโครงการรวม 3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามรัฐบาล แห่ง สปป.ลาว มุ่งหวังให้โรงไฟฟ้าหงสาเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นที่ยอมรับของชุมชน ดังนั้นการดำเนินงานของบริษัทนอกจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าผ่ายผลิตของไทย และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้ว ยังมีพันธกิจที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนควบคู่กันเรื่อยมา ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี2553 และจะดำเนินการต่อเนื่องไปตลอดจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน
นายสมศักดิ์ สิทธินามสุวรรณ” กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัดเปิดเผยว่า เดิมทีบริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าหงสาเป็นที่อยู่อาศัยชุมชนกว่า 450 ครอบครัว เมื่อโรงไฟฟ้าก่อตั้งขึ้นจึงได้วางแผนพัฒนาผังเมืองโดยรอบ โยกย้ายประชากรและจัดสร้างที่อยู่ใหม่กับครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณเหล่านั้น
“เราจึงวางแผนต่อว่าในปี 2020รายได้ของประชาชนในพื้นที่รอบๆเมืองหงสาทั้งหมด จะต้องพ้นขีดความยากจนในที่สุด เพราะเรามีการเก็บข้อมูลจากฝ่ายพัฒนาชุมชนทุกปี เราจึงเชื่อแน่ว่าสิ่งที่ทำเพื่อชุมชนในหมู่บ้านโยกย้าย รวมไปถึงประชาชนในเมืองหงสา ชีวิตความเป็นอยู่จะต้องดีขึ้น แต่เราก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะเรื่องของการพัฒนาชุมชนจะต้องดำเนินต่อไป”
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าไทยที่อาศัยทรัพยากรและพื้นที่ของ สปป.ลาว โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 1,437 เมกะวัตต์ ส่งออกเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ในประเทศลาวเพียง 100 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือเล็กน้อยใช้ทำงานในสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า
การขายไฟฟ้าดังกล่าวฝ่ายสายไฟแรงสูงเข้าสู่ประเทศไทยด้วยระบบเสาส่งทางไกล 67 กิโลเมตรเข้าสู่อำเภอสองแคว จังหวัดน่านและสู่ตัวเมืองน่าน ทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคเหนือของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ลดสภาพไฟดับและไฟตกในพื้นที่ตัวเมืองใกล้เคียง และส่งกำลังไฟฟ้าเข้าสู่ชนบท และยังทำให้รัฐบาลลาวได้รับส่วนแบ่งทั้งจากสัมปทานและการขายไฟฟ้าปีละกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงสร้างงานให้ชุมชนโดยรอบและวิศวกร คนงานชาวไทยที่เข้าไปทำงาน รวมถึงเมื่อหมดสัญญาสัมปทานจะกลายเป็นของลาวเองด้วย
นายวราวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP 1 ในผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าหงสา กล่าวว่า สำหรับปีนี้ บริษัทคาดรายได้โตกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 9,813.83 ล้านบาท ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นแตะ 2,070 เมกะวัตต์ จากสิ้นปีก่อนที่มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1,930 เมกะวัตต์ โดยมาจากโซลาร์ฟาร์มในประเทศจีน ที่เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD)ในช่วงไตรมาส1/2560 แล้ว 140 เมกะวัตต์ และจะเริ่มCODเพิ่มอีก 10 เมกะวัตต์ ในช่วงไตรมาส 3/2560 จึงทำให้ทั้งปีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในจีนรวมเป็น 150 เมกะวัตต์ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหงสาเฟส 2-BLCP ในช่วงไตรมาส3/2560ก็ตาม แต่ไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยได้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งก่อสร้างอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-ลาว คือ โรงไฟฟ้าหงสา โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,878 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าหงสาตั้งอยู่ในเขตเมืองหงสาและเมืองเงิน แขวงไซยะบุรี ห่างจากเขตชายแดนเชื่อมต่อประเทศไทยที่จังหวัดน่านเพียง 23 กิโลเมตร ใช้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งขุดจากเหมืองถ่านหินที่อยู่ใกล้เคียงและอาศัยน้ำจากแม่น้ำเหืองเข้าหล่อเย็นและถ่ายเทความร้อน พื้นที่ทั้งหมดได้รับสัมปทานเป็นเวลา 25 ปี