130 ปี โอสถสภารับคาร์บอนฟุตพริ้น 2 ปีต่อเนื่อง ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงงานทั้ง 5 แห่ง พัฒนาระบบหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ ร่วมตระหนักและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เข้ารับมอบประกาศนียบัตรคาร์บอนฟุตพรินต์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในงาน“ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2563 ตอกย้ำพันธกิจของกลุ่มบริษัทโอสถสภาในการเดินหน้าเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
130 ปีที่ผ่านมาให้การดำเนินธุรกิจ โอสถสภาหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงงานทั้ง 5 แห่ง ขนาดรวม 3 MW โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะถูกติดตั้งนี้จะสามารถผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 4,300 MWh ในปีแรก เทียบเท่ากับการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (CO2 ) ได้กว่า 2,400 ตัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เผยว่า โอสถสภายึดหลักดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานของโอสถสภา และเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาว ช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนความพยายามในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน โดยทดแทนการใช้ไฟฟ้าส่วนหนึ่งด้วยพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน โอสถสภาเชื่อว่าการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนนั้นต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการสร้างพันธมิตรที่มั่นคง ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับคลีนเทค โซลาร์ ในฐานะพันธมิตรด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะร่วมเดินทางบนเส้นทางสู่การดำเนินธุรกิจที่ใช้คาร์บอนต่ำและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ โอสถสภาเดินหน้าพัฒนาการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์โดยการดูแลนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะโดยเริ่มจากการเปิดศูนย์รีไซเคิลขึ้นในจังหวัดสระบุรี เพื่อรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เมื่อศูนย์รีไซเคิลได้รับขยะขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียม จะนำมาผ่านกระบวนการแยกชิ้นส่วนและแยกประเภทอย่างเป็นระบบ เพื่อนำทุกส่วนไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด เช่น ขวดแก้วและเศษแก้วจะถูกส่งต่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้ว ช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก ฝาอลูมิเนียมที่คัดแยกออกมาจะนำมารวมกับขยะกระป๋องและส่งให้โรงงานที่เชี่ยวชาญด้านอลูมิเนียมนำไปรีไซเคิลต่อไป สำหรับส่วนประกอบอื่นๆ ของบรรจุภัณฑ์นั้นได้รับการออกแบบให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แผ่นรองฝาขวดเครื่องดื่มส่วนใหญ่ของโอสถสภานั้น ทำจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนฉลากของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของโอสถสภานั้น ส่วนใหญ่ทำจากกระดาษ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากเปิดใช้งานศูนย์รีไซเคิลแห่งนี้เมื่อช่วงปลายปี 2562 โอสถสภาสามารถนำขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เป็นจำนวนมาก จึงได้ขยายศูนย์ฯ ให้สามารถรองรับได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ได้จับมือกับโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดหาขวดแก้วที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิลอีกด้วยการนำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มาหมุนเวียน กลับมาใช้ประโยชน์ ถือเป็นส่วนสำคัญในนโยบายลดและกำจัดปริมาณของเสียจากการดำเนินงานทุกๆ ส่วน จนทำให้ โอสถสภาสามารถลดปริมาณขยะฝังกลบจากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จ ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรในประเทศไทยที่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้
ทั้งนี้ โอสถสภาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดมาโดยตลอด จึงมุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาแนวทางบริหารจัดการและสร้างการหมุนเวียนของบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของโอสถสภา เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และนำความยั่งยืนมาสู่สังคม