THAILAND 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจงานสัมมนาใหญ่ประจำปี ซึ่งจัดโดยประชาชาติธุรกิจ มี3 ทายาทธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยจาก 3 วงการธุรกิจ และอีกหนึ่งกูรูด้านเทคโนโลยี ในการถอดรหัสก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจและพายุดิจิทัลดิสรัปต์ที่ไม่มีใครหนีพ้น
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในหัวข้อ Thailand 2020…โอกาสการค้า การลงทุน ว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ และประเทศไทยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากหลายด้านทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงเมกะเทรนด์ต่างๆ ซึ่งสร้างทั้งวิกฤตและโอกาสได้พร้อมกัน จึงเป็นความท้าทายของประเทศในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองด้านต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจธุรกิจ และแข่งขันได้ในโลก และผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ที่จะชะลอตัวลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ เหลือขยายตัว 2.7เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของไทยทำให้ตัวเลขส่งออกปรับลดลง แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าที่ส่งออกปีนี้ปรับตัวลดลงมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยซึ่งเป็นครัวของโลก เป็นผู้ส่งออกอาหาร ขณะที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิและส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอาหาร แต่พบว่าประเทศไทยขาดดุลการค้าจีน ซึ่งถ้าไทยวางยุทธศาสตร์การส่งออกจากโอกาสตรงนี้ได้ ก็น่าจะเป็นโอกาสของการส่งออกอาหารไทยได้ โดยไทยมีความอุดมสมบูรณ์ จึงอยู่ในฐานะผู้ส่งออกอาหารและการจะพัฒนาให้เป็น“ครัวของโลก สิ่งสำคัญจะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบชลประทาน และการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรไทยไปสู่การทำการเกษตรแบบสมัยใหม่
ด้าน นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ร่วมเปิดมุมมองในหัวข้อ Super Productive ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ ว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนระยะยาว AWC ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าการพัฒนาโครงการจะส่งต่อรุ่นสู่รุ่น วันนี้คำถามคือเราจะก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร โดยวงจรธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้จะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และชุมชน เป็นที่มาของบิสซิเนสโมเดลภายใต้แนวคิด Building a Better Future ร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีกว่า เน้นเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวซึ่งไทยมีการเติบโตสูง ที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ธุรกิจจัดประชุม สัมมนา หรือMICE มีอัตราการเติบโตสูงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี
ปัจจุบันพอร์ตของ AWC แบ่งเป็น 4 พอร์ตหลัก โรงแรม 14 แห่ง ห้องพักรวม 4,421 ห้องพัก, ธุรกิจรีเทล 9 แห่ง พื้นที่รวม 198,781 ตารางเมตร, อาคารสำนักงานให้เช่า 4 แห่ง พื้นที่รวม 270,594 ตารางเมตร และมีโครงการที่อยู่ระหว่างลงทุนในช่วง 5 ปี อีก 13 โครงการ ถือเป็นพอร์ตใหญ่สุดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า โดยที่โรงแรมต้องจ่ายส่วนแบ่งถึง 25-30เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของ AWC กลยุทธ์หลัก คือ รักษายอด direct booking จากช่องทางต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ของโรงแรม ปัจจุบันยังเป็นสัดส่วนหลัก ส่วนการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ มีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโสกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย พูดในหัวข้อ Next Chapter อุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนมุมมองอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนไปว่าการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)-เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำให้ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนไป เปิดโอกาสให้หลายธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล แอปเปิล และอีกหลายบริษัทที่ประกาศเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ โดยไม่ต้องลงทุนตั้งโรงงานผลิต เพียงเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หากลงทุนและปรับตัวในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะแม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถไร้คนขับ ก็ยังต้องการชิ้นส่วน เพียงแต่จะต้องพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่น ชิ้นส่วนตัวถังรถ,เบาะที่นั่ง, อุปกรณ์ตกแต่งภายในที่ตอบโจทย์ เพราะอนาคตจะเป็นการอาศัยในรถ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีผลกระทบต่อภาครัฐด้วย เพราะรายได้ภาษีสรรพสามิต 35.9 เปอร์เซ็นต์ มาจากการนำเข้าน้ำมัน อีก 22.8เปอร์เซ็นต์ เป็นภาษีรถยนต์ เรียกว่าภาษีสรรพสามิตเกือบ 60เปอร์เซ็นต์ มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นรถอีวี รายได้จะหายไป
ขณะที่ นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวในหัวข้อFast Forward in Digital Era ว่าโลกธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของบริษัทลดลงจาก 18 ปี ต่อไปจะเหลือเพียง 15 ปี และเข้าสู่ยุคที่ดิจิทัลแพลตฟอร์มกำลังเข้ามากลืนกินทุกสิ่ง และเกิดการหลอมรวมกันของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ไม่มีพรมแดนของธุรกิจต่าง ๆ อีกต่อไปเช่น บริษัทที่ทำอีคอมเมิร์ซอาจย้ายมาทำบริการการเงิน หรือบริการขนส่งได้ เป็นต้น ตั้งแต่ปีหน้าจะเห็นผลกระทบลามไปทุกวงการ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว, มีเดีย, คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ และแฟชั่น จะโดนดิสรัปชั่นอย่างเข้มข้น