นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. เปิดเผยว่า กรมได้งบประมาณปี 2561-2563 จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น ให้เป็นสนามบินนานาชาติ แยกเป็นงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร และอาคารจอดรถ 550 คัน วงเงิน 2,250 ล้านบาท และขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 6 หลุมจอด วงเงิน 300 ล้านบาท
“อาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะเริ่มสร้างต้นปี 2561 ส่วนการก่อสร้างลานจอดเครื่องบินจะของบประมาณปีหน้าทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2564 รองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี”
ท่าอากาศยานขอนแก่นมีพื้นที่ทั้งหมด 1,113 ไร่ มีอาคารที่พักผู้โดยสารเป็นอาคารสูง 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 14,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย ขนาดทางวิ่ง 3,050×45 เมตร ขนาดลานจอด 300×145 เมตร และ 180×80 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด B747 ได้จำนวน 2 ลำ ในเวลาเดียวกัน และ B737 ได้จำนวน 2 ลำ
ส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับ ผู้โดยสารขาเข้า – ขาออก ในชั่วโมงคับคั่งได้ 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.4 ล้านคนต่อปี มีลานจอดรถยนต์ 160 คัน
ทั้งนี้สนามบินขอนแก่นมีสายการบินให้บริการจำนวน 5 สายการบิน และมีจำนวนเที่ยวบิน วันละ 20 เที่ยวบินต่อวัน โดยมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งปี 2559 มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 1,499,823 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า หากเทียบจากปี 2556 ที่มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 593,210 คน คาดว่าปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8 ล้านคน
ด้านว่าที่ ร.ต.อัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังได้รับงบประมาณวงเงินกว่า 55 ล้านบาท สร้างสายพานเทียบเครื่องบินตัวที่ 3 จะเสร็จปลายปี 2561 จะเสร็จใกล้เคียงกับการปรับปรุงอาคารหลังเก่าและก่อสร้างอาคารหลังใหม่
“เมื่ออาคารใหม่หลังเสร็จ ท่าอากาศยานขอนแก่นจะถูกยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ รองรับนักท่องเที่ยวและการเดินทางในประเทศ ขณะนี้มีทางแอร์เอเชีย สนใจที่จะขอเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ คุนหมิง-ขอนแก่น อยู่ระหว่างการดำเนินการของเอกชน ยังไม่มีกำหนดการเปิดให้บริการชัดเจน แต่ปัจจุบันมีสายการบินที่ขอใช้บริการเช่าเหมาลำไปต่างประเทศอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 28 แห่งทั่วประเทศ พบว่าในภาคอีสานมี 9 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร อุดรธานี และอุบลราชธานี มีส่วนแบ่งผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 40เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นอีสานเหนือ 25เปอร์เซ็นต์ และอีสานใต้ 15เปอร์เซ็นต์