50 ปี กฟผ. รับรางวัลดีเด่นประจำปี CSR-DIW Continuous 2019 และ CSR Beginner 2019 เดินหน้าพัฒนาสู่พลังงานสีเขียว ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ครบรอบ 50 ปี ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่อยู่เคียงข้างกันมา ในการพัฒนาและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า พร้อมก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลังงานอย่างไม่หยุดยั้ง สู่พลังงานสีเขียวเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย รวมถึงการเป็นศูนย์กลางระบบไฟฟ้าอาเซียน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ล่าสุด กฟผ.เข้ารับ รางวัลและเกียรติบัตรโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน CSR-DIW Continuous 2019 และ CSR Beginner 2019 จากนายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานมอบรางวัลและเกียรติบัตรในครั้งนี้
สำหรับในปีนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DIW รวมจำนวน 358 ราย และโรงงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR Beginner รวมจำนวน 310 ราย ซึ่งในส่วนของ กฟผ. ได้รับเลือกจากคณะกรรมการเข้ารับรางวัล CSR-DIW Continuous 2019 ดังนี้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จากผลงานการดำเนินงานด้าน CSR ร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า สำหรับมาตรฐาน CSR-DIW เป็นมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดขึ้น โดยประยุกต์จาก ISO 26000 ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้ปฏิบัติและแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า 50 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึงต้องขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย
“วันนี้ กฟผ.จะมุ่งมั่นทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างเต็มความสามารถและจะพัฒนางานและนวัตกรรมพลังงานอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน”
สำหรับทิศทางการดำเนินภารกิจขององค์กรในอนาคต กฟผ. พร้อมปรับตัวและพร้อมรับมือเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับสถานการณ์พลังงานและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้า ในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เช่น การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไป มีระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานนำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน