14 ปี ทช.ยิ้มรับประกาศเกียรติคุณด้านการเบิกจ่ายระดับดีเลิศ เร่งพัฒนาเส้นทางหวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
กรมทางหลวงชลนบท หรือ ทช. ถูกตั้งขึ้นตาม มาตรา 20 อนุ 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ปี 2545 กำหนดให้มีกรมทางหลวงชนบทในสังกัด กระทรวงคมนาคมโดยให้โอนกิจการ อำนาจ หน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังบางส่วน ที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างทางและสะพาน จากกรมโยธาธิการ และจากกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท สังกัดกระทรวงมหาดไทย มารวมกันก่อตั้งเป็น กรมทางหลวงชนบทเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2545 ตั้งแต่นั้นมา โดยกระทรวง คมนาคมได้ออกกฎกระทรวง กำหนดให้กรมทางหลวงชนบทมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทาง หลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง ให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท ได้พัฒนาเส้นทางคมนาคมต่างๆ รวมถึงการบริหารงบประมาณก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างสูงสุดแก่ประเทศ ล่าสุดในปีนี้ได้เข้ารับรางวัลเกียรติคุณรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จากกรมบัญชีกลาง โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมอบประกาศเกียรติมอบรางวัลให้แก่ส่วนราชการที่มีการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังเป็นเลิศใน 5 มิติ คือ มิติด้านการจัดซื้อจัดจ้าง มิติด้านการเบิกจ่าย มิติด้านการบัญชี มิติด้านการตรวจสอบภายใน และมิติด้านความรับผิดทางละเมิด โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาประเมินผลด้านการเงินและบัญชีของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพในองค์รวม
สำหรับส่วนของกรมทางหลวงชนบทได้รับประกาศเกียรติคุณด้านการเบิกจ่ายระดับดีเลิศ จากกรมบัญชีกลาง โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และนายผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ ผู้อำนวยการกองแผนงาน เข้ารับประกาศเกียรติคุณ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.มีโครงการก่อสร้างใหม่เตรียมขอจัดสรรในงบประมาณปี 2560 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงถนนกัลปพฤกษ์ตลอดเส้นทาง วงเงิน 800 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความเจริญขึ้นมาก โดยเฉพาะมีโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมาก จึงต้องปรับปรุงท่อระบายน้ำเพื่อให้คล่องตัวขึ้น
อีกโครงการเป็นการขยายถนนราชพฤกษ์ส่วนที่เหลือ ตอนที่ 3 จากถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทาง 8.350 กม. วงเงิน 1,236 ล้านบาท โดยขยายช่องจราจรเพิ่มจากเดิม 6 ช่องจราจร เป็น 10 ช่องจราจร พร้อมปรับปรุงระบบระบายน้ำ โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการ 2-3 ปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2563
นายพิศักดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการเสนอคำขอจัดสรรงบประมาณปี 2560 กรมได้เสนอกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ได้รับจัดสรรกว่า 46,000 ล้านบาท โดยวงเงินที่ขอไปเป็นการขอแบบครอบคลุมทั้งหมด และมีโครงการใหญ่หลายโครงการที่จะเร่งดำเนินการ อยู่ที่การพิจารณาของสำนักงบประมาณ คาดว่าน่าจะได้เพิ่มจากปี2559
“มีแผนงานดำเนินการหลักๆคือ งานบูรณะและก่อสร้างถนนสายใหม่ เพื่อเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ก่อสร้างถนนส่งเสริมด้านการขนส่งโลจิสติกส์ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สนับสนุนการท่องเที่ยว แก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และปรับปรุงถนนลาดยางให้เป็นถนนคอนกรีต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โครงการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ เป็นต้น”
นายพิศักดิ์กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะขอจัดสรรในงบประมาณปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล อาทิ ปรับปรุงถนนกัลปพฤกษ์ตลอดเส้นทาง 800 ล้านบาท, ขยายถนนราชพฤกษ์เป็น 10 ช่องจราจร ส่วนโครงการใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะมีโครงการก่อสร้างถนนตามผังเมือง การเวนคืนที่ดินก่อสร้างถนนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมี อ.แม่สอด 3 สาย, อ.ป่าไร่ 1 สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย 1 สาย
อีกทั้งมีโครงการก่อสร้างถนนสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว วงเงิน 1,500 ล้านบาท โครงการถนนเพื่อสนับสนุนโลจิสติกส์พื้นที่ จ.ปทุมธานี กว่า 1,400 ล้านบาท รวมถึงโครงการก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และสนับสนุนทุ่งยางแดงโมเดล โดยของบ 702 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทช.ยังได้ขอจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางให้แล้วเสร็จ 1 ปี ระยะทางรวมทั่วประเทศ 500 กม. วงเงิน 3,600 ล้านบาท ตั้งเป้าภายในปี 2562 จะปรับปรุงถนนลูกรังที่อยู่ภายใต้การดูแล 47,000 กม. ให้เป็นถนนลาดยางและคอนกรีตทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงแล้ว 45,000 กม. ยังเหลือเป็นถนนลูกรัง 2,700 กม. ซึ่งในปี 2559 ได้งบฯมาปรับลาดยางเพิ่ม 700 กม. เหลือระยะทางอีก 2,000 กม. คาดใช้งบประมาณในปี 2560-2562 จะปรับปรุงได้เสร็จทั้งหมด
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยถึงการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2559 ที่ได้รับจัดสรรมา 46,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์และกำลังเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล
“ เป้าหมายภายในปี 2562 จะต้องปรับปรุงถนนลูกรังที่อยู่ภายใต้การดูแลของทช.ให้เป็นถนนคอนกรีตและถนนลาดยางได้ทั้งหมด โดยปัจจุบันทช.มีถนนที่ดูแล 47,000 กิโลเมตร เป็นถนนคอนกรีตและลาดยางแล้ว 45,000 กม.เหลือเป็นถนนลูกรังอีกประมาณ 2,700 กม.ซึ่งในปี 2559 ได้งบมาปรับลาดยางเพิ่มแล้ว 700 กม.ที่เหลืออีก 2,000 กม.คาดใช้งบประมาณในปี 2560-2562 จะปรับปรุงได้เสร็จทั้งหมด”นายพิศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ทช.ยังมีแผนพัฒนาเส้นทางพัทยาชลบุรีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองพัทยา-ชลบุรี ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมาท่องเที่ยว นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร วิหารเซียน พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ ดังนั้น เมืองพัทยาจึงได้นำเส้นทางสายแยกทางหลวงหมายเลข 3 – ทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว มาอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา
กรมทางหลวงชนบท จึงได้ทำการปรับปรุงเป็นเส้นทางดังกล่าว พร้อมสร้างทางจักรยาน สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือการสันทนาการ และส่งเสริมการท่องเที่ยว การชมทิวทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแบบครอบครัว
การก่อสร้าง มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ เชื่อมกับถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ที่ กม.0+000 แนวทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกผ่านสายทาง ชบ.1008 ผ่านสายทาง ชบ.3020 ผ่านสายทาง ชบ.5010 และผ่านสายทาง ชบ.1003 จนไปสิ้นสุดโครงการฯ ที่ กม.13+662 บรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 ระยะทางรอบ 13.662 กิโลเมตร
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างสายดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 สายทาง ดังนี้
- ช่วง ชบ.1008 จาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 4+900 ก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ทางจักรยาน 2 ข้าง กว้างข้างละ 2.50 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 แห่ง ระยะทางก่อสร้าง 4.900 กิโลเมตร
- ช่วง ชบ.3002 จาก กม.ที่ 5+100 ถึง กม.ที่ 6+467.205 ก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางก่อสร้าง 1.367 กิโลเมตร
- ช่วง ชบ.5010 จาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 2+640.178 ก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางก่อสร้าง 2.640 กิโลเมตร
- ช่วง ชบ.1003 จาก กม.ที่ 4+800 ถึง กม.ที่ 9+544.972 ก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางจักรยาน กว้างข้างละ 2.50 เมตร ระยะทางก่อสร้าง 4.744 กิโลเมตร
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2560 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 144.950 ล้านบาท