ธนาคารกสิกรไทยจัดร่วมด้วย ช่วยเปย์ บน K+ market ด้วยการรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 300 ร้าน พร้อมเพิ่มโอกาสการขายบน K+ market โดยนำมาจำหน่ายให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษเพียง 20 บาทเท่านั้น และเตรียมแจกคะแนนสะสม K Point ให้ลูกค้าไปแลกแทนเงินสด
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความกังวลและความเดือดร้อนของสังคมไทยที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ และเป็นองค์กรหนึ่งในสังคม ได้ดำเนินโครงการพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ภายใต้ศักยภาพของธนาคารอย่างเต็มที่ มุ่งเน้น 2 ด้านคือ เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจพร้อมรักษาการจ้างงาน และแบ่งเบาภาระทางการเงิน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น และลดการผ่อนต่องวด จำนวน 338,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการให้วงเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและร้านค้ารายย่อย ทั้งตามมาตรการภาครัฐ และมาตรการพิเศษเพิ่มเติมของธนาคาร ตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน โดยธนาคารให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นวงเงินกว่า 232,000 ล้านบาท โดยโครงการพิเศษต่างๆดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ธุรกิจสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ตรงกับความต้องการมากที่สุด และใช้ทรัพยากรที่ธนาคารมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ล่าสุด ธนาคารได้ออกโครงการพิเศษเพิ่มอีก 2 โครงการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของลูกค้า ได้แก่ 1.โครงการ ร่วมด้วย ช่วยเปย์ บน K+ market โดยธนาคารรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 300 ร้าน พร้อมเพิ่มโอกาสการขายบน K+ market นำมาจำหน่ายให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษเพียง 20 บาทเท่านั้น สามารถชำระเงินได้ทั้งเงินสดในบัญชี K PLUS และใช้คะแนน K Point แลกซื้อแทนเงินสด และ 2. โครงการ ร่วมด้วย ช่วยแจกพ้อยท์ ให้คะแนนสะสม K Point 1,000 คะแนนฟรี ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่าเงินสด 100 บาท เพื่อให้ลูกค้านำไปแลกแทนเงินสด สำหรับจ่ายบิลสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เติมเงิน หรือแลกซื้อของกินของใช้บน K+ market
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารตั้งใจช่วยเหลือสังคมและแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในช่วงวิกฤตินี้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการฟื้นฟูธุรกิจและการใช้ชีวิตของลูกค้าภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนต่อไป