บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (PTL) ผู้ผลิตและส่งออกแผ่นฟิล์มก้าวสู่ 20 ปี ในสายการผลิตฟิล์ม PET และ CPP ล่าสุดเริ่มเปิดสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPP ที่ประเทศอินโดนีเซีย สร้างความพร้อมให้บริษัทในการเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์แบบอ่อน ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายอมิต ปรากาซ กรรมการผู้จัดการ PTL เปิดเผยว่า ความท้าทายจากการระบาดของโรคโควิด – 19 และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ทั่วโลกประสบที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจจับจ่ายซื้อสินค้าท้องถิ่นและจากแหล่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับการพึ่งพาสินค้านำเข้าราคาถูกในช่วงก่อนโควิด แต่เรามีฐานการผลิตที่แข็งแรงครอบคลุมพื้นที่ในทุกภูมิภาคที่สำคัญ จะได้รับอานิสงส์จากโอกาสเช่นนี้ และก็ย่อมสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การลงทุนของ PTL ในสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายกำลังการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPET และเรซิน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในครึ่งหลังของปี 2565 – 2566 ซึ่งบริษัทยังคงมองหาโอกาสสร้างการเติบโตในทำเลปัจจุบันพร้อมกับประเมินทำเลใหม่ๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตในปีต่อๆ ไป
“การเริ่มดำเนินสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPP ในอินโดนีเซีย สร้างความเข้มแข็งทางยุทธศาสตร์ให้บริษัทฯในการเป็นผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร และเป็นผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนที่ลูกค้าให้ความสำคัญคิดถึงผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับแผ่นฟิล์ม BOPP ซึ่งทางบริษัทฯเชื่อมั่นว่าจะสามารถผนึกกำลังกับฐานลูกค้าของเราให้เป็นความได้เปรียบในการสร้างความเติบโตของธุรกิจแผ่นฟิล์ม BOPP ของPTL โดยที่ผ่านมาสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPET ขนาด 10.6 เมตร ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยได้เดินเครื่องจักรไปแล้วในอินโดนีเซียเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถแข่งขันด้วยต้นทุนต่ำที่สุดในโลก และสำหรับสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPP ในขนาด 10.6 เมตรก็เช่นเดียวกัน ที่กำลังจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในอินโดนีเซียสามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ดียิ่งขึ้นด้วยขนาดของสายการผลิตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการจัดวางตำแหน่งด้านการตลาดของบริษัทในอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” นายอมิต กล่าว
การจัดวางตำแหน่งของ PTL ในตลาดที่สำคัญทุกตลาด ประกอบกับการให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพในกลุ่มสินค้าพิเศษ โดยไม่สูญเสียความมุ่งมั่นในการขยายประสิทธิภาพการผลิตแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ก็ช่วยให้บริษัทฯ สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้
ส่วนแผนการลงทุนในปี 2565/2566 บริษัทวางงบลงทุนรวมไว้ที่ประมาณ 86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยโครงการลงทุนสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPET ชนิดบางในสหรัฐอเมริกา ขนาด 50,000 ตันต่อปี และ PET Resin ขนาด 86,000 ตันต่อปี (เพื่อแก้คอขวดของกำลังการผลิตที่มีอยู่) แม้ปัจจุบันมีความล่าช้าในโครงการประมาณ 6-9 เดือน แต่คาดว่าโครงการจะเริ่มในไตรมาส 3/2566/67 (ต.ค.-ธ.ค.67) และ Offline Coated Film ขนาด 2,100 ตันต่อปี รวมถึงโครงการรีไซเคิลที่บริษัท อีโคบลู จํากัด เป็นโครงการพลาสติกรีไซเคิลที่มาจากการใช้แล้วจากผู้บริโภคของบริษัทย่อยในไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองผลิต โดยคากว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/2564/65 (ม.ค.-มี.ค.65) อีกทั้งจัดงบไว้10-15 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อใช้ในการซ่อมแซมและบำรุงเครื่องจักรให้สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิต 7 แห่ง ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, ตุรกี, ไทย และอินโดนีเซีย และบริษัทได้รับใบอนุญาตการขายและมีการจัดตั้งสำนักงานขายในอีกมากกว่า 5 ประเทศ อาทิ เวียดนาม ประเทศเนเธอร์แลนด์, สิงคโปร์, เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยสัดส่วนการขายมาจากตลาดอเมริกาตอนเหนือประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรวม, ยุโรป 23 เปอร์เซ็นต์,เอเชีย 36เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เหลืออีกราว 5 เปอร์เซ็นต์ มาจากประเทศอื่นๆทั้งนี้ บริษัทยังคงมีความสนใจและมองหาโอกาสในการขยายลงทุนในประเทศใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง คาดได้ข้อสรุปในระยะถัดไป