เปิดตัวเลขส่งออก 9 เดือนติดลบ 0.7 เปอร์เซ็นต์

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือสนค. รายงานการส่งออกไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 19,460 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.4เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนที่ผ่านมา และเป็นการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 2 ปี แต่การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกรวมมูลค่า 160,468 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่ใกล้เป้าหมายประมาณการครั้งล่าสุด แต่หากหักตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันออกไป จะทำให้การส่งออกพลิกมาขยายตัวเป็นบวก 1.7เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามในช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 14.6เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงติดลบ 5.1เปอร์เซ็นต์ หรือมูลค่า 23,412 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80.3เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกทั้งหมด ขยายตัว 1.3เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่า 128,921 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 4.3เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ขยายตัวถึง 43เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 35.5เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น 105เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัญมณีไม่รวมทองยังติดลบ 2เปอร์เซ็นต์

สำหรับตลาดส่งออกพบว่า กลุ่มตลาดหลัก คิดเป็นสัดส่วน 30.2เปอร์เซ็นต์ ขยายตัว 0.6เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นตลาดสหรัฐ ขยายตัว 1.5เปอร์เซ็นต์ สหภาพยุโรป ขยายตัว 0.4เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ญี่ปุ่น ติดลบอยู่ 0.4เปอร์เซ็นต์ ตลาดศักยภาพสูง คิดเป็นสัดส่วน 48เปอร์เซ็นต์ ยังคงติดลบ 3.5เปอร์เซ็นต์ เพราะทุกตลาดในกลุ่มนี้ติดลบ เช่น อาเซียน 6 ประเทศ ติดลบ 2.3เปอร์เซ็นต์ อาเซียน CLMV ติดลบ 3.1เปอร์เซ็นต์ จีน ติดลบ 5.6เปอร์เซ็นต์ เอเชียใต้ ติดลบ 1.3เปอร์เซ็นต์ ฮ่องกง ติดลบ 4เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ ติดลบ 5.7เปอร์เซ็นต์ ไต้หวัน ติดลบ 7.7เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มตลาดศักยภาพรอง ซึ่งมีสัดส่วน 18.6เปอร์เซ็นต์ ติดลบ 2.5เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกติดลบเกือบทั้งหมด ได้แก่ ตะวันออกกลาง ติดลบ 9เปอร์เซ็นต์ แอฟริกา ติดลบ 11.5เปอร์เซ็นต์ละตินอเมริกา ติดลบ 1.9เปอร์เซ็นต์ รัสเซียและซีไอเอส ติดลบ 12.4เปอร์เซ็นต์ แคนาดา ติดลบ 2.5เปอร์เซ็นต์ มีเพียงออสเตรเลียเท่านั้นที่บวก 9.5เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 74.2เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกทองคำไปสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ตลาดนี้ขยายตัว 122.9เปอร์เซ็นต์

กระทรวงพาณิชย์ประมาณการการส่งออกทั้งปี 2559 ว่า จะติดลบ 1เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 212,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปจนถึง 0เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 214,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหากดีสุด ส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 1เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 216,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทาง สนค.สมมุติฐานการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ระหว่างตุลาคม-ธันวาคม ปี 2559 ว่า ถ้าหากต้องการให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย 0.3เปอร์เซ็นต์ ตามที่วางไว้ ต้องผลักดันการส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 18,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกไตรมาสสุดท้ายขยายตัว 3.22เปอร์เซ็นต์ แต่กรณีที่ 2 หากส่งออกเฉลี่ยได้เพียงเดือนละ 17,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ยอดส่งออกไตรมาสสุดท้ายขยายตัว 0เปอร์เซ็นต์ และยอดการส่งออกทั้งปี 2559 ติดลบ 0.49เปอร์เซ็นต์ เท่าปี 2558 หรือกรณีที่ 3 หากส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไตรมาสสุดท้ายขยายตัวอยู่ที่ 2เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การส่งออกทั้งปี 2559 ขยายตัวอยู่ที่ 0เปอร์เซ็นต์ แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย

การส่งออกโค้งสุดท้าย ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงสุดของปี และประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) มีท่าทีจะจำกัดปริมาณการผลิต ซึ่งมีโอกาสจะทำให้ระดับราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเป็น 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถ้าหากระดับราคาน้ำมันขยับขึ้น จะส่งผลดีกับราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นตาม