กรมทางหลวง (ทล.) ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง ควบคุม บูรณะ บำรุงรักษา ทางหลวง อำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากว่า 108 ปี มุ่งพัฒนาหน่วยงานสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2563 ท่ามกลางวิกฤตโควิด -19 ที่ทุกภาคได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ทั้งภาครัฐก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำหรับ ทล.ในปีงบประมาณ 63 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมที่ 113,883 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลออกนโยบายที่จะให้พิจารณาตัด 10 เปอร์เซ็นต์จากของเดิม ซึ่งจะถูกตัดไปประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทางหลวงพร้อมดำเนินการทุกประการและยืนยันว่าจะไม่ตัดงบประมาณในโครงการใหม่แต่อย่างใด แต่จะไปพิจารณาตัดจากในงบประมาณที่กรมทางหลวง ได้รับงบผูกพันกว่า 42,000 ล้านบาท ใน 200 กว่าโครงการ และยังมีงบประมาณที่เหลือค้างท่ออีก 8,000 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท หากโครงการใดมาเบิกจ่ายล่าช้า น่าจะไม่ทันเดือน ก.ย.63 ก็ให้นำไปเบิกในปีถัดไปได้ซึ่งในส่วนนี้ก็จะดำเนินการตัดทันที
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องการผลักดันโครงการลงทุนผ่านรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งในส่วนของทล.ปัจจุบันมีแผนพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)สายนครปฐม – ชะอำ วงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
หากโครงการผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) โดยทล.ได้ศึกษาเป็นรูปแบบพีพีพี เน็ตคอส์ต งานโยธาและงานระบบ รวมสัญญา 30 ปี จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหากได้รับอนุมัติก็จะเปิดประมูลได้ในช่วงปี 2564 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทล.ยังมีแผนขยายการพัฒนาทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ ตอนเอกชัย – บ้านแพ้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ พีพีพี พร้อมก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา(โมโนเรล)และ ทล.สร้างงานโยธาเอง และเปิดพีพีพี เน็ต คอส์ต ส่วนงานระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา(O&M) คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน2 เดือน ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เบื้องต้นหากทล.เป็นผู้ลงทุนงานโยธาเองก็จะนำเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ที่มีอยู่เพียงพอมาเงินลงทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนการดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 128,577 ล้านบาท โดยเป็นงานก่อสร้างปีเดียวจำนวน46,050 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2564 แบ่งออกเป็น 6 แผนงาน ประกอบด้วย 1.แผนงานบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 5,043 ล้านบาท คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมด 2.แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 30,612 ล้านบาท คิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมด 3.แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค(ก่อสร้างปีเดียว)วงเงิน 5,082 ล้านบาท คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมด 4.แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงิน 75,906 ล้านบาท คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมด ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 11,472 ล้านบาท, โครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค ระยะทาง 357 กิโลเมตร (กม.)วงเงิน 1,401 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ 6 โครงการ วงเงิน 1,015 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินระยะทางทั้งสิ้น 2436 กิโลเมตร และสะพาน 46 แห่ง วงเงิน 36,088 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศระยะทางทั้งสิ้น 271 กม. และสะพาน 1 แห่งวงเงิน 3,684 ล้านบาท เป็นต้น
5.แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ วงเงิน 3,370 ล้านบาท คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมด โดยแผนงานดังกล่าวนั้น มีแผนการดำเนินงาน รวมระยะทางทั้งสิ้น 228 กม. และสะพาน 3 แห่ง แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จ.ตราด ระยะทาง 23 กม., จ.สงขลา ระยะทาง 6 กม. และ จ.สระแก้ว ระยะทาง 50 กม. ขณะที่ ระยะที่ 2 จ.เชียงราย ระยะทาง 46 กมก, จ.กาญจนบุรี สะพาน 2 แห่ง, จ.หนองคาย ระยะทาง 35 กม. สะพาน 1 แห่ง, จ.นครพนม ระยะทาง 57 กม. และ จ.นราธิวาส ระยะทาง 11 กม.
6.แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) วงเงิน 8,564 ล้านบาท คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมด โดยแผนงานดังกล่าวนั้น มีแผนการดำเนินงาน รวมระยะทางทั้งสิ้น 364 กม. และสะพาน 6 แห่ง ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 115 กม. สะพาน 2 แห่ง, จ.ชลบุรี ระยะทาง 122 กม. สะพาน 4 แห่ง, และ จ.ระยอง ระยะทาง 126 กม. ทั้งนี้ เมื่อโครงการได้รับการพัฒนาแล้วนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งในรูปแบบอื่นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริการด้วย