กลุ่มน้ำตาลมิตรผล เข้ารับประกาศนียบัตรมาตรฐาน ISO20400:2017 ตามแนวทางมาตรฐานสากล ISO 20400 Sustainable Procurement ประจำปี 2562 บริษัทแรกในกลุ่มธุรกิจน้ำตาล พลังงาน และวัสดุทดแทนไม้ ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
นายศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (กลุ่มบริหาร) พร้อมคณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล เข้ารับมอบประกาศนียบัตรมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400 : 2017 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) หรือ MASCI โดยมีคุณพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) มอบประกาศนียบัตรและร่วมแสดงความยินดี
ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวนับว่ากลุ่มมิตรผลเป็นบริษัทแรกในธุรกิจน้ำตาล และพลังงานทดแทน ที่ได้รับมอบประกาศนียบัตรมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรจะช่วยส่งเสริมความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกลุ่มมิตรผลในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
สำหรับ มาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (ISO 20400 Sustainable Procurement – Guidance) เป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรมีการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นระบบ ช่วยองค์กรในการบูรณาการความสามารถด้านการดำเนินการอย่างยั่งยืนเข้ากับนโยบาย กลยุทธ์และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ การลดต้นทุนและนวัตกรรม เนื่องจากสินค้าและบริการที่จัดซื้อจัดจ้างจะส่งผลกระทบต่อองค์กร ทั้งสมรรถนะ สวัสดิภาพของพนักงาน ชื่อเสียง ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม
สรอ. ขอแสดงความยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งบูรณาการ SDGs เข้ากับกระบวนการดำเนินงานของกลุ่มมิตรผลในทุกมิติ
สำหรับการแก้ปัญหาการเผาอ้อยที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามแผนโรดแมปของรัฐบาลจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลภายในปี 2565 นั้นกลุ่มผิตรผลได้นำร่องโรงงานน้ำตาลประกาศรับซื้อใบอ้อยตันละ 1,000 บาท เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นที่เกิดจากการเผาอ้อย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการรับซื้อใบอ้อยและฟางแห้งจากเกษตรกรในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปส่งให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งแต่ละปีใช้วัตถุดิบใบอ้อย 400,000-500,000 ตัน โดยทางบริษัทกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ตันละ 1,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบอ้อยเพิ่มขึ้นและลดการเผาอ้อยได้อีกด้วย
“เฉลี่ยจะเก็บใบอ้อยได้ไร่ละ 2 ตัน เกษตรกรจะแบ่งครึ่งหนึ่งคลุมดินเป็นวัสดุชีวภาพ อีกครึ่งมาใช้ผลิตไฟฟ้า หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบริหารจัดการจะเหลือกำไรตันละ 500 บาท มาตรการนี้เป็นผลจากที่หลายคนมองว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลทำให้เกิดมลพิษ PM 2.5 แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้จะทำให้เกิดการดูแลอย่างยั่งยืน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผลทำสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ที่หน่วยละ 3.00 บาท บวก adder อีก 30 สตางค์ รวม 3.30 บาท เหลืออายุสัญญาอีก 3-4 ปี มีผลทำให้เราสามารถรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ที่ราคาตันละ 1,000 บาทได้” นายอิสระ กล่าว
ส่วนแนวทางในการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการลดการเผาอ้อยให้เหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือไปจากการรับซื้อใบอ้อยแล้ว ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรใช้เครื่องจักรตัดอ้อยเพื่อลดการเผา ซึ่งทั่วประเทศมีปริมาณรถตัดอ้อยอยู่ 2,000 คัน รองรับอ้อยได้ประมาณ 30 ล้านตัน หากจะให้ครอบคลุม 100 ล้านตันอ้อยก็ต้องลงทุนเพิ่ม ถ้าซื้อเครื่องจักรใหม่อีก 4,000 กว่าคัน ราคาคันละ 10-15 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้เงิน 60,000 ล้านบาท แต่หากนำรถตัดอ้อยเก่ามาปรับปรุง ต้นทุนจะลดลงเหลือ 5-6 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมแรงงานในการตัดอ้อยสด โดยมีเครื่องสางใบให้แรงงานเพื่อตัดง่ายขึ้น