สู่ปีที่ 110 ทล. วาดแผน 4 โปรเจ็กต์ PPP ปี 65 มูลค่ากว่าแสนล้าน จัดเต็ม มอเตอร์เวย์-โทลล์เวย์-จุดพักรถรับลูก“ศักดิ์สยาม” พิจารณาบางโครงการผ่านระดมทุน TFFIF ชี้ต้องเหมาะสม-รอบคอบ เผยเตรียมส่งมอบพื้นที่แจ้งเริ่มงาน O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย “M6 & M81” คาดเปิดให้บริการปี 66
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวถึงแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ที่จะดำเนินการปี 2565 ว่า ขณะนี้ทางกรมทางหลวงได้จัดลำดับความสำคัญที่สร้างมอเตอร์เวย์จำนวน 3 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2565 วงเงินรวมกว่า 43,800 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1. ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท 2.งานดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ด้วยระบบ M-Flow ในเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท และ 3. โครงการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง กม.137+800 ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ และ ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา กม.93+750 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ วงเงินรวมในการดำเนินการประมาณ 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามแผน โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5)นั้น คาดว่าจะสามารถเสนอครม.ขออนุมัติรูปแบบ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Purchasing Private Partnership: PPP) ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565 หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนมาร่วมดำเนินการ โดยมีแผนก่อสร้างปี 2566 – 2569 เปิดให้บริการได้ในปี 2570 , ส่วนงานบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI ในเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ในเส้นทางดังกล่าวนี้ ทล. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรูปแบบ PPP ให้กระทรวงฯ พิจารณา เพื่อนำเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะสามารถประมูล PPP ได้ภายในปี 2565 และดำเนินการติดตั้งระบบในปี 2566 – ปลายปี 2567 จากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนวิ่งฟรีทดสอบระบบและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2568
ด้านนายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กล่าวว่า แผนลงทุนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะ 20 ปี (ปี2560-2579) ทาง ทล.ได้จัดอันดับความสำคัญไว้ทั้งหมดใน 5 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยลงทุนได้ปี 2565-2570 ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการจ้างงานได้เพิ่ม ประกอบด้วย 1.มอเตอร์เวย์วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก (M9) วงเงินลงทุน 79,060 ล้านบาท ระยะทางรวม 37 กม. โดยแบ่งเป็นช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง กำลังขออนุมัติรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่วนช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว คาดก่อสร้างระหว่างปี 2566 – 2568 ,
2. ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมสรุปผลศึกษาเพื่อเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมทุน PPP โดยมีแผนก่อสร้างปี 2566 – 2569 3.มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 119 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบและขอบเขตการดำเนินโครงการตามมติของคณะกรรมการ PPP คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จปี 2567
และ 4.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 18.50 กม. วงเงินลงทุน 29,550 ล้านบาท ขณะนี้ได้ศึกษารูปแบบ PPP และรายละเอียดเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานอีไอเออยู่ และ 5 .มอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 62.60 กม. วงเงินลงทุน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน PPP เสร็จแล้ว และมีแผนดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 2567 – 2570
นายธนศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีแผนพัฒนาที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์ จำนวนรวม 5 เส้นทาง โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง ซึ่งจะมีทั้งจุดพักรถ สถานที่บริการทางหลวง และศูนย์บริการทางหลวง 1.เส้นทางแรก คือ M 7-1 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง โดยช่วงกรุงเทพฯ – ชลบุรี ได้เปิดให้บริการแล้วทั้งจุดพักรถลาดกระบัง กม.21+700 และสถานที่บริการทางหลวงบางปะกง กม.49+300 , 2.เส้นทาง M 7-2 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงชลบุรี – พัทยา เปิดให้บริการแล้วจุดพักรถหนองรี กม.72+500 ส่วนที่ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา กม.93+750 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ปี 2567และ 3. เส้นทาง M 7-3 สายกรุงเทพฯ –บ้านฉาง โดยช่วงพัทยา – มาบตาพุด จุดพักรถมาบประชัน กม.119+20 ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมบริหารเชิงพาณิชย์ ส่วนอีกจุดสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง กม.137+800 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดใช้ได้ปี 2567 และ 4.เส้นทาง M 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา อยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ปี 2566 และ 5.เส้นทาง M 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ คาดเปิดบริการได้ในปี 2566 โดยแผนการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์ทั้งหมดของกรมทางหลวง เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว ตลอดจนยกระดับศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศได้.