บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ทุ่ม 1.56 แสนล้าน ลุยโปรเจกต์สร้าง สนามบินใหม่ 2 แห่ง เพิ่มเส้นทางการบินให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินเชิงพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา (เชียงใหม่แห่งที่ 2) และท่าอากาศยานอันดามัน (ภูเก็ต แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานพังงา) นั้นอยู่ในแผนการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของ AOT ซึ่งได้รับการผลักดันจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มเส้นทางการบินในอนาคต และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินเชิงพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ ทอท.รับนโยบายรมว.คมนาคมมาดำเนินการ โดยวางแผนรูปแบบการบริหารจัดการท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กม. โดยใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 15-20 นาที ผ่านสะพานสารสินที่เชื่อมจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา นอกจากนี้จะจัดระบบขนส่งเชื่อมระหว่าง 2 สนามบินนี้ให้ผู้โดยสารมีความสะดวกมากที่สุดอีกด้วย”
ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 12.5 ล้านคนต่อปี มี 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมี 25 หลุดจอด การก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน จึงตอบโจทย์ โดยในระยะยาวเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะย้ายบริการผู้โดยสารระหว่างประเทศในส่วนของเที่ยวบินตรง (Direct Flight) แบบ long-haul flight จากท่าอากาศยานภูเก็ตไปท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกล สำหรับรองรับผู้โดยสาร เชื่อมต่อกับเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตก็ยังคงมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ แต่จะเป็นในรูปแบบ Point to Point แบบเส้นทางในภูมิภาค (regional)
นายกีรติ กล่าวว่า การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดหาผู้รับจ้าง มีการออกแบบช่วงเดือน มี.ค. 2567-เดือน ก.พ.2568 กรอบวงเงิน 202 ล้านบาท พร้อมกับดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในเดือนก.พ. 2569 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือน เม.ย. 2569 และดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง เริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค. 2569 แล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2572 ประเมินค่าลงทุนก่อสร้างที่ 5,800 ล้านบาท
ส่วนท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 8 ล้านคนต่อปี โดยมี 1 รันเวย์ รองรับได้ 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารเมื่อปี 2562 มีถึง 11.5 ล้านคน นับเป็นสนามบินลำดับที่ 4 ที่มีปริมาณเที่ยวบินมากที่สุด รองจากสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต แม้ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบผู้โดยสารลดลง แต่ปัจจุบันผู้โดยสารฟื้นตัว โดยปี 2566 มีผู้โดยสาร 7.71 ล้านคน ปี 2567 คาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 11.07 ล้านคน และเติบโตขึ้น ปี 2573 คาดว่าจะมี 15.26-19.34 ล้านคน ปี 2578 เพิ่มเป็น 17.83-21.9 ล้านคนและปี 2583 จะเพิ่มเป็น 20-24.75 ล้านคน
ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว่า ในปี 67 เชื่อว่าผู้โดยสารต่างประเทศจะมีความสนใจเดินทางกันมากขึ้น แต่สายการบินต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมกลับมาให้บริการได้มากเท่าเดิม โดยเฉพาะตลาดจีนฟื้นตัวเพียง 60% ของปี 62 ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจีน และสายการบินจีนได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงโควิด จึงคาดว่าตลาดจีนต้องใช้เวลาฟื้นตัว แต่เมื่อรัฐบาลไทยมีมาตรการฟรีวีซ่า ก็มีสายการบินใหม่ของจีนแจ้งขอสิทธิเข้ามาแล้ว อีกทั้งชาวยุโรปและรัสเซียกลับเข้ามามากกว่าเคย ทำให้บริษัทมั่นใจว่าปี 67 จะกลับมาสู่ภาวะปกติ
“ตอนนี้อุตสาหกรรมการบินเป็นขาขึ้นปริมาณผู้โดยสารตอบรับดี สายการบินใหม่ก็เกิดขึ้น AOT มีทิศทางดีขึ้น รายได้โตตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวจีนค่อยๆ ขึ้น ไม่ได้ขึ้นสูงมาก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นตามที่คาด”นายกีรติ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการรับโอน 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอาอากาศยานบุรีรัมย์ จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นั้น ทอท.มีแผนลงทุนรวมประมาณ 6,660 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร ประกอบด้วย ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงินลงทุน 2,700 ล้านบาท พัฒนาระยะที่ 2 ขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 4 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี และรองรับ 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ท่าอากาศยานอุดรธานี มีวงเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท เพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 3.4 ล้านคนต่อปี เป็น 6.5 ล้านคนต่อปี และรองรับ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ มีวงเงินลงทุน 460 ล้านบาท เพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 0.78 ล้านคนต่อปี เป็น 2.8 ล้านคนต่อปี และรองรับ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยคาดว่า ทอท.จะเข้าบริหารอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 3 ปี 2567