มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นความคาดหวังในการพัฒนาบุคคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของอีซีซี ซึ่งมีหลักสูตรครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่รัฐวางแผนส่งเสริมให้เกิดขึ้น
นายวัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่าต้องยอมรับว่าทิศทางของโลกเปลี่ยนไปจากเดิมในอดีตเรามีการเรียนการสอนในหลักสูตรแบบคลาสสิกแบบ Supply Push คือ ทางสถาบันการศึกษากำหนดเองว่าอยากสอนอะไรก็เปิดหลักสูตรขึ้นมา ถ้าใครมีความสนใจในหลักสูตรไหนก็จะสมัครมาเรียน ในอดีตน่าจะมีปัญหาเรื่องสถานศึกษาไม่พอ แต่ปัจจุบันคนเรียนมีน้อยลง ขณะที่สถานศึกษามีจำนวนเท่าเดิม สถานศึกษาที่ปรับตัว ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงความต้องการของผู้เรียนไม่ทันก็ย่อมถูกดิสรัปชั่น
ดังนั้นสถาบันการศึกษาทุกระดับ ต้องเปลี่ยนมายึดหลัก Demand Driven คือแทนที่จะตามใจคนสอนก็ต้องเริ่มเปลี่ยนเป็นการไปสื่อสารกับคนที่เขาจะใช้บัณฑิตนั่นก็คือสถานประกอบการว่าเขาอยากได้บุคลากรแบบไหน แล้วมาปรับหลักสูตร ปรับการเรียนการสอน ให้สอดคล้องหรือตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต นี่น่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มาถูกทาง
ปัจจุบันมีโครงการอีอีซีเกิดขึ้น มีเรื่องการผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย มากำหนดให้กรอบการพัฒนาหลักสูตรหรือจัดการศึกษาให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพราะหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการอีอีซีอยู่ที่นวัตกรรมและ เทคโนโลยีสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยก็ควรจะใช้ในการปรับหลักสูตร ซึ่งม. บูรพามีอยู่ประมาณ 230 หลักสูตร ทางสภามหาวิทยาลัยฯ จึงตัดสินใจยุบหลักสูตรที่ซ้ำซ้อนและไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่
65 ปีที่ผ่านมาวางจุดยืนของมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของอีอีซี โดย หลักสูตรไหนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของอีอีซีก็จะพยายามปรับหลักสูตรและเปิดสอนให้ได้เร็วที่สุด โดยขณะนี้มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหลายท่านไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของ คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ไปช่วยงานในด้านการวิเคราะห์ฐานกำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ เพราะฉะนั้นเราพูดได้เลยว่า เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความต้องการของอีอีซีอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
“สำหรับ ม.บูรพา เราอยากได้บัณฑิตที่ไม่ใช่รู้แค่วิชาของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องมีความรู้พิเศษเสริมรอบด้านเช่นบัณฑิตที่จบด้านบริหารธุรกิจตั้งใจว่าจบออกไปจะเป็นเจ้าหน้าที่บริหารอยู่ประจำโรงงาน แต่การไปทำงานในโรงงานก็ต้องมีความรู้เสริม เช่น ความรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม อย่าง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ร.บ.แรงงาน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือต้องรู้จักเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เอามาใช้ในการบริหารโรงงาน ต้องใช้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ เป็น ผมอยากให้บัณฑิตของเราจบออกไปพร้อมทำงานเลย นี่คือความหวังที่เราต้องการ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว