กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดงานประชุมวิชาการในโอกาสครบรอบ 100 ปี สาธารณสุขไทย ภายใต้แนวคิด “เพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนา”
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 100 ปี ของระบบการสาธารณสุขประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ก่อตั้ง กรมสาธารณสุขขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะการต่อสู้กับโรคระบาดและโรคติดต่อที่คร่าชีวิตของประชาชนไทย ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุข จึงได้รวบรวมผลสัมฤทธิ์และผลการดำเนินงานด้านพัฒนาการของระบบสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้วางรากฐานระบบสาธารณสุขของประเทศ มีการผลิตแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพ พัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาทั้งด้านจำนวน คุณภาพและการกระจายของหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับ รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบบบริการสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน
“หากมองไปอีก 100 ปีข้างหน้าว่าระบบสาธารณสุขไทยจะต้องปรับให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล 4.0 สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีโรคและความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่เกิดจากโลกไร้พรมแดน ซึ่งระบบสาธารณสุขไทยจะต้องปรับบทบาทการทำงานรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เช่นการปรับระบบบริการลงสู่ระบบปฐมภูมิ การสร้างความเข้มแข็งทีมหมอครอบครัว ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้อย่างถูกต้อง”
นพ.ปิยะสกล กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการสาธารณสุขเป็นระบบสาธารณสุข 4.0 จะไม่ใช่เป็นฝ่ายรับแต่จะเป็นเชิงรุกจะเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยเฉพาะการแพทย์ปฐมภูมิ ที่จะมีคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมบุคลากรลงไปดูแลสุขภาพประชาชนถึงในระดับตำบล โดย 1 ทีม ดูแลสุขภาพประชาชน 10,000 คน ขณะนี้มี 596 ทีม จะเพิ่มเป็น 1,170 ทีม ในปี 2561 คาดว่าอีก 10 ปีจะครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ดำเนินการพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนของทุกภาคส่วน