บริษัทสยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด หรือ STM ผู้ผลิตเครื่องยนต์ชั้นนำในกลุ่มโตโยต้าและเป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์หลักของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
STM เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมปี 2530 มีทุนจดทะเบียน 2,850 ล้านบาท
แหล่งข่าวรายงานว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจให้เป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า IMV ซึ่งถือเป็น อีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จ ปัจจุบันจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนโครงการ รถยนต์ประหยัดพลังงานทำให้ STM มีการขยายธุรกิจจากเครื่องยนต์ดีเซล ไปยัง เครื่องยนต์ เบนซิน และเครื่องยนต์ที่ประหยัดพลังงาน และเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้ พลังงานทางเลือกมากขึ้น
บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล มีการใช้เทคโนโลยี และ นวัตกรรมขั้นสูง เพื่อรองรับการผลิต เครื่องยนต์อย่างครบวงจรจนเป็นที่ยอมรับ ของลูกค้าตลอดจน องค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต1,000,000 เครื่อง/ปี ด้วยพนักงานกว่า 4,000 คน
ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของโตโยต้าและเป็นตัวกำหนดการเติบโตขององค์กร บริษัทจึงให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาบุคลากรในองค์กรโดยมีปรัชญาตามแนวทางวิถีโตโยต้า ซึ่งตระหนักว่า คนเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด โดยจะเป็นผู้กำหนดการขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าและเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร และสามารถเติบโตไปพร้อมบริษัทอย่างยั่งยืนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามบริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีการประเมินลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมและเน้นปรับปรุงที่แหล่งกำเนิดเป็นหลัก นอกจากนี้ โครงการปรับปรุงเพื่อลดการใช้ทรัพยากรหรือพลังงานและการเกิดของเสียถือเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่บริษัทฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกๆปี ซึ่งผู้บริหารให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือน
สำหรับการควบคุมระดับปริมาณของเสียที่ปล่อยสู่ภายนอกบริษัทจะตั้งเป้าหมาย ค่าควบคุมไว้ต่ำกว่าข้อกำหนดของกฏหมาย 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะสามารถป้องกันแก้ไขก่อนที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยบริษัทฯได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อลดมลพิษในด้านต่างๆ เช่น ระบบบำบัดมลพิษอากาศทางด้านฝุ่น, ไอน้ำมัน, ไอกรด และระบบบำบัดน้ำเสีย ก่อนระบายออกไปยังระบบบำบัดส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม โดยมีการตรวจสอบประสิทธิภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผย ตลาดรถยนต์ในปี 2562 จะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน หรือประมาณ 1.05 ล้านคัน ขณะที่ตลาดส่งออกยังคงอยู่ในระดับเดิมกับปี 2561 คือ 1.1 ล้านคัน ส่งผลให้ในปี 2562 ยอดผลิตรถยนต์ในไทยจะอยู่ที่ 2.150 ล้านคัน
ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นประกอบไปด้วย ราคาน้ำมันที่จะส่งผลกับตลาดตะวันออกกลาง, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ อเมริกาและจีน, เศรษฐกิจของยุโรปที่คาดว่าจะตกต่ำ ,การตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย ,ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจดี มีการประกาศเลือกตั้งมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยก็จะช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจ ด้านบริษัทผู้ผลิตค่ายต่างๆ จะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่,ทำโปรโมชัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2562 มีโอกาสที่จะขยายตัวเล็กน้อยที่ประมาณ 1-4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออกประมาณ 1.150-1.180 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 1.135 ล้านคันในปี 2561 ซึ่งตลาดหลักที่มีแนวโน้มเติบโตยังคงเป็นตลาดโอเชียเนีย โดยเฉพาะเวียดนาม ส่วนตลาดที่คาดว่าจะหดตัวยังคงเป็นตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าตลาดส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยในปี 2562 จะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะสงครามการค้าโลก , ความผันผวนของอัตราค่าเงินในประเทศคู่ค้า และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในหลายๆ ประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น การย้ายฐานการผลิตรถยนต์เข้าใกล้ตลาดมากขึ้น เพื่อการลดต้นทุนขนส่ง