บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ (PG) ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องอุปโภคอย่างครบวงจรมากว่า 42 ปี แบ่งเป็นสายการผลิตภัณฑ์สิ่งทอและการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาทิ เสื้อผ้าบุรุษ สตรี ชุดว่ายน้ำ ชุดกีฬา และชุดเครื่องแบบยูนิฟอร์มของบริษัทต่างๆ
ทุกโรงงานผลิตภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง มีการรับรองและตรวจสอบคุณภาพด้านมาตรฐานความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย และการผลิตไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9001:2015 และ ISO14001:2015 ด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน (Cool Mode) ,ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4
โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์5 เสื้อเบอร์ 5 หรือ ซึ่งเป็นการผลิตเสื้อที่มีการปรับปรุงเนื้อผ้าให้สามารถใส่สบายโดยไม่ต้องรีดเพื่อให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าในการรีดผ้าลง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีการผลิตเสื้อยับ หรือเสื้อที่ไม่ต้องรีดออกมาจำหน่ายนานแล้ว หากนำมาใช้ในไทยให้เกิดการแพร่หลายจะเป็นจุดที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันประหยัดไฟฟ้าลงได้มากโดยจะมีการเก็บรวมรวมข้อมูลว่าการไม่รีดผ้า 1 ตัวจะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้เท่าไหร่และบันทึกไว้เป็นลำดับต่อไป
บริษัทดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริหารและพนักงานทั่วทั้งองค์กรมีความตระหนักถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการสู่เป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนร่วมลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจริยธรรม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ หรือแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างรากฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สำหรับแนวโน้มการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสิ่งทอจะขยายตัว 20 เปอร์เซ็นต์ จากตลาดการส่งออกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเทียบก่อนที่จะเกิดปัญหาแพร่ระบาดของโควิด – 19 เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา และปัญหาสินค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ส่งผลดีต่อประเทศอื่นที่ทำให้สหรัฐฯเริ่มหันไปสั่งสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนเมษายน ปี 2565 มีมูลค่า 545.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว พบว่า มีเพียง 2 ตลาด คือ ตลาดสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.1 เปอร์เซ็นต์ และ 6.1 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,330.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) 11.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยตลาดส่งออกใน 5 อันดับแรก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดจีนที่ปรับตัวลดลง (สะสม) 7.4 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากมาตรการ ZeroCovid ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดจีนปรับตัวลดลงทั้งในรายเดือนเมษายน ปี2565 และ (สะสม) 4 เดือน
ด้านต้นทุนการผลิตที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (สิ่งทอ +3.5 เปอร์เซ็นต์ YoY และเครื่องนุ่งห่ม +1.8เปอร์เซ็นต์ YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าดิบ และผ้าเช็ดตัว และกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียนชาย/หญิง กางเกงสตรี/บุรุษ เสื้อยืด และถุงเท้า ซึ่งคาดว่าส่งผลต่อการกดดันกำไรของผู้ผลิตในประเทศ
การส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย พบว่า ด้วยความต้องการสินค้าจากตลาดที่เป็นประเทศคู่ค้าหลัก (USA, Japan, Vietnam and Indonesia) มีแนวโน้มความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยตลอดในปีนี้ (ปี 2565) ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง