ครม.ตั้ง สัญชัย เกตุวรชัย นั่งบริหารกรมชลฯสานต่อนโยบายเร่งพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบแต่งตั้ง ให้ นายสัญชัย เกตุวรชัย เป็นอธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ หลังจากนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ เกษียณอายุราชการ เพื่อสานต่อนโยบายต่างๆและพัฒนางานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีการประชุมหารือแนวทางการเร่งรัดการขอใช้พื้นที่สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ โดยมีคณะผู้บริหารกรมชลประทาน และผู้บริหาร ผู้แทน จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมหารือ โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งประเด็นการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งน้ำ

“แต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายกำกับอยู่ เช่น กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติหรือกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลฯ กรมชลประทานเองในฐานะผู้ขอใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำก็ทำตามกฎหมายของหน่วยงานดังกล่าว เพียงแต่จะขอความร่วมมือเร่งรัดในแต่ละขั้นตอนให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้งานพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นได้รวดเร็วตามนโยบาย” นายสัญชัย กล่าว

อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นงานนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม น้ำอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมซึ่งทุกหน่วยตระหนักดีอยู่แล้ว การประชุมครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือเพื่อหาทางดำเนินการ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาจากน้ำโดยเร็วยิ่งขึ้น

“เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากท่านรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง ได้มีการหารือกัน และได้ให้นโยบายไว้ วันนี้ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเดียวกัน บรรยากาศการประชุมก็เป็นไปด้วยดี แต่ละหน่วยงานพยายามช่วยหาทางแก้ปัญหาและมีความมั่นใจว่าการประชุมร่วมคราวต่อๆไป จะเห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามนโยบายร่วมขอ 2 กระทรวง” นายสัญชัย กล่าว

 

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เร่งรัดขอใช้พื้นที่ป่า ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ โครงการอ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ จ.จันทบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรจะมีคณะผู้บริหารกรมชลประทานแล้ว ยังมีผู้บริหาร และผู้แทน จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติประกอบด้วย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งและกรมทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมประชุมด้วย

กรมชลประทานเป็นองค์กรหลักที่พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ งานชลประทานเริ่มขึ้นปี 2433ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดลอกคลองและขุดคลองขึ้นใหม่ในบริเวณ ทุ่งราบภาคกลางจำนวนมากตามสัมปทาน 25 ปี โครงการประกอบด้วยการก่อสร้างระบบคลอง ในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดปทุมธานี ที่เรียกว่า ทุ่งรังสิต เป็นลักษณะขุดคลองสายใหญ่ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปยังแม่น้ำนครนายก พร้อมกับการสร้างประตูระบายน้ำ สำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูก และสร้างประตู เรือสัญจรเพื่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำตลอดทั้งปี

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบให้มีการแก้ไขการจัดการทางน้ำ ตามที่เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาวิศวกรผู้ชำนาญงานด้านการชลประทาน ในปี 2445 ได้จ้าง นายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด วิศวกรชลประทานจากประเทศฮอลันดา มาดำเนินงานชลประทานในประเทศไทย และทรงแต่งตั้งให้ นายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด เข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี2445 พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมคลอง ขึ้นและแต่งตั้ง นาย เย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด เป็นเจ้ากรมคลองคนแรก

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทดน้ำขึ้นแทนกรมคลอง เมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี2457 และทรงแต่งตั้ง นายอาร์ ซี อาร์ วิล สัน เป็นเจ้ากรมทดน้ำ รวมทั้งจัดสร้างโครงการชลประทานป่าสักใต้ โครงการสร้างเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ คือ เขื่อนพระราม 6 ขึ้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 680,000ไร่ เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริว่าหน้าที่ของกรมทดน้ำ มิได้ปฏิบัติงานอยู่เฉพาะแต่การทดน้ำเพียงอย่างเดียว งานที่กรมทดน้ำปฏิบัติอยู่จริงในขณะนั้นมีทั้งการขุดคลอง การทดน้ำ รวมทั้งการส่ง น้ำตามคลองต่าง ๆ อีกทั้งการสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก กรมทดน้ำ เป็น กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปี 2470 มีหน้าที่รับผิดชอบงานการขุดคลอง การทดน้ำ การส่งน้ำ และการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก